จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีการสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง หรือสะพานแสนสำราญ บนพื้นที่โครงการ T77 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริเวณซอยสุขุมวิท 77 เพื่อออกสู่ถนนปรีดีพนมยงค์ 2 เขตวัฒนา ภายหลังมีการสร้างเสร็จแล้วปรากฏว่า มีการตั้งตู้เก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ว่า กทม. ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทาง สผ.ตอบกลับมาว่าอีไอเอดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้มีการจัดเก็บค่าผ่านสะพานและถนนภาวะจำยอมแต่อย่างใด และกำหนดมาตรการจัดทำป้าย เพื่อแสดงให้บุคคลภายนอกพื้นที่โครงการได้ทราบว่าถนนภาวะจำยอมดังกล่าว มีสภาพใช้ประโยชน์เป็นถนนสาธารณะเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้
ขณะเดียวกันสำนักการโยธา (สนย.) จะทำหนังสือไปยังสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อให้ทำตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หากถนนเป็นสาธารณะ ก็เปิดให้ประชาชนใช้สอยร่วมกัน โดยสำนักงานเขตอาจจะพิจารณาออกคำสั่งให้มีการรื้อถอนตู้เก็บค่าผ่านทางออก ส่วนคำสั่งทางปกครองที่ กทม.ออกไป บริษัทฯ สามารถคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าฯ กทม. หรือฟ้องทางศาลปกครองให้มีการพิจารณา ว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าบริษัทฯ ไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฟ้องศาลปกครอง และยังไม่มีการรื้อถอนตู้เก็บค่าผ่านทางออก กทม.จะดำเนินการฟ้องคดีอาญา ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เป็นการทำตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ส่วนการรื้อถอนแล้วแต่ตามกฎหมายกำหนดระยะเวลาภายในกี่วัน