กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังจากที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบหลักการญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … วาระที่ 1 ด้วยคะแนน 33 ต่อ 3 เสียง โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญว่าด้วยการกำหนดให้รถเมล์ใหม่ในกรุงเทพทุกคันต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV) และภายใน 7 ปี รถเมล์ในกรุงเทพต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด
ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณมลพิษที่ออกจากรถยนต์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงเห็นควรมีมาตรการกำหนดให้รถโดยสารประจำทาง ปรับปรุงเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของรถยนต์ทั่วโลก บังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร
และต่อมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ได้นำประเด็นนี้ไปโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กฎหมายรถเมล์อนาคตผ่านสภากรุงเทพแล้ว สมาขิกสภากรุงเทพของพรรคก้าวไกล เปิดมิติใหม่ในการพัฒนาเมือง
รวมถึงยังอ้างว่าที่ผ่านมา เราแทบไม่เคยเห็นกรุงเทพ, อบจ. จังหวัดต่างๆ, เทศบาล หรือ อบต. เสนอกฎหมายเพื่อการพัฒนาบ้านเมืองตัวเองเลย การพัฒนาล้วนแต่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์และรูปแบบผ่านส่วนกลาง
กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์ของการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการเปิดประตูบานใหม่ เป็นการเพิ่มเครื่องมือในการพัฒนาเมืองให้กับท้องถิ่น
รวมถึงหวังว่าในอนาคต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ จะนำเครื่องมือนี้มาใช้พัฒนาบ้านเมืองตัวเองมากขึ้น และหวังว่าคนกรุงเทพจะเห็นถึงความตั้งใจของพรรคก้าวไกล ทั้งในการดูแลประชาชน ดูแลสิ่งแวดล้อม และมลพิษทางอากาศ และในทางความพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่คนมักคิดว่าเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตามทางด้าน นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ผู้เสนอญัตติดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา กทม. จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 1 ปี ถ้าพ้นจาก 1 ปีไปแล้ว นอกจากรถเมล์ที่ยังมีสัมปทานเดินรถ รถเมล์ไฟฟ้าเท่านั้นที่จะสามารถเดินทางสัญจรได้ในพื้นที่ กทม.
ส่วนรถเมล์ที่มีสัมปทานเดินรถเดิมก็จะทยอยหมดอายุสัมปทาน ซึ่งอายุสัมปทานนานที่สุดที่มีการต่อคือ 7 ปี นั่นหมายความว่าภายใน 7 ปี รถเมล์ทั้งหมดที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเป็นรถเมล์ EV ทั้งหมด
“เรื่องนี้เป็นการใช้อำนาจของท้องถิ่นปกป้องชีวิตคนในเมือง ในอดีตก็เคยมีการใช้อำนาจแบบเดียวกันมาแล้วในสมัย อดีตผู้ว่า กทม. พิจิตร รัตกุล ที่เคยสั่งห้ามรถเมล์ที่ก่อมลพิษเกินค่ามาตรฐานเข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ”