รู้หรือไม่ วันที่ 14 เม.ย. เป็นวันคล้ายวันเเกิดของ "แสงดา บัณสิทธิ์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การถักทอ) ประยุกต์ลวดลายใหม่ ๆ สวยงามไม่ซ้ำใคร
ข่าวที่น่าสนใจ
Google Doodle ร่วมฉลองวันคล้ายวันเกิดบุคคลสำคัญของไทย โดยวันนี้ (14 เม.ย.) เป็นวันคล้ายวันเกิดของ “แสงดา บัณสิทธิ์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การถักทอ) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ช่างทอผ้าที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมรักษาเทคนิคเอกลักษณ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้ผ้าทอแต่ละพับมีความสวยงามไม่ซ้ำกันเลย และถ่ายทอดและเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจอยู่เสมอ
ประวัติของ “แสงดา บัณสิทธิ์”
- เป็นบุตรคนเดียวของนายหมวก และนางคำมูล
- เกิดเมื่อ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2462 ที่บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 6 ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- สมรสกับนายดาบมาลัย บัณสิทธิ์ เมื่อ พ.ศ.2480
- ตลอดชีวิตนางแสงดาไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียน แต่ฝึกเรียนด้วยตนเองกับคุณลุง จนสามารถอ่านออกเขียนได้ และจากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคุณยาย ( อุ๊ยเลี่ยม) ผู้ซึ่งมีความรู้ในด้านการทอผ้า ย้อมผ้า โดยเฉพาะย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีจากพืชแบบโบราณ
- ทำให้นางแสงดามีโอกาสสืบทอดความรู้ดังกล่าว ซึ่งตัวเองมีใจรักงานด้านนี้อยู่แล้ว ประกอบกับหลังจากแต่งงานก็ได้ทำงานเกี่ยวกับการทอผ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับใช้สอยในครอบครัว จึงสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ
- เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าขาดตลาด นางแสงดาและมารดาก็ได้ช่วยกันทอผ้าที่เรียกว่า ผ้าเปลือกไม้ สีกากี สำหรับตัดชุดข้าราชการให้สามี และเพื่อน ๆ สามี กระทั่งสงครามยุติ มารดาที่ชรามากแล้วก็เลิกทอ จึงมีเพียงนางแสงดาที่ยังคงทอผ้าเรื่อยมา
- เมื่อสามีถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2503 นางแสงดาได้เริ่มสะสมเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า และภายใน 1 ปี นางสามารถรวบรวมกี่ทอผ้าได้ถึง 5 หลัง จึงได้ชักชวนเพื่อนบ้านมาช่วยกันทอผ้า เพื่อจำหน่าย
- ในระยะแรกขายไม่ได้ ต้องแจกลูกหลานไป ปรากฏว่าเมื่อคนในเมืองพบเห็นก็เกิดความสนใจ และช่วยอุดหนุนให้กำลังใจ
- ต่อมาเกษตรอำเภอจอมทอง ได้พานางแสงดาและกลุ่มแม่บ้านไปแสดงผลงานที่สวนบวกหาด ในจังหวัดเชียงใหม่
- จากนั้นนางแสงดาได้นำผ้ามาฝากขายที่ร้านบ้านไร่ไผ่งาม ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องจักสานของบุตรสาว อยู่ที่ศูนย์การค้าทิพย์เนตร อำเภอเมืองเชียงใหม่ ทำให้คนทั่วไปรู้จักผ้าทอบ้านไร่ไผ่งาม และได้รับความนิยมมากขึ้น
- พ.ศ.2520 Mr.Kenji ชาวญี่ปุ่น ผู็สนใจและติดตามผลงานของนางแสงดามาเป็นเวลานาน สั่งซื้อผ้าเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น
- นอกจากนี้ทางร้านจิตรลดาก็ได้สั่งซื้อผ้าเป็นจำนวนมากเช่นกัน นางแสงดาไม่สามารถผลิตให้ได้ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ เพราะ เป็นงานทอมือ ต้องใช้เวลาทำนาน วัตถุดิบมีไม่เพียงพอ และขาดแรงงานในบางเวลา
- นางแสงดาจึงแก้ปัญหาด้วยการปลูกฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นฝ้ายสีตุ่น เอง และชักชวนเพื่อนบ้านให้ปลูกด้วย โดยนางจะรับซื้อผลผลิตไว้ทั้งหมด
- จากนั้นนางแสงดาจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ขึ้น ณ บริเวณบ้านพักอาศัยของนางเอง เพื่อผลิตผ้าฝ้ายทอมือแท้ ๆ ออกสู่ตลาด โดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายวัน และจะรวมจ่ายให้ทุก 15 วัน
- นอกจากจะมีความสามารถในการทอผ้าแบบดั้งเดิมแล้ว นางแสงดายังมีความเป็นศิลปิน
-
- มีความคิดสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากการที่นางแสงดาประยุกต์ลวดลายใหม่ ๆ ต่างๆ บนผืนผ้าให้มีความหลากหลายสวยงามมากขึ้น
- ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาเทคนิคเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเอาไว้ โดยเฉพาะการย้อมสีธรรมชาติ
- ทำให้ผ้าทอแต่ละพับมีความสวยงามไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งนางเองก็ไม่เคยหวงความรู้เหล่านี้ เมื่อมีโอกาสก็จะถ่ายทอดและเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจอยู่เสมอ
ดังนั้น เมื่อเทียบผลงานของนางแสงดากับผ้าทอโดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าผ้าของนางแสงดาจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบในกลุ่มผู้นำแฟชั่น และผู้มีรสนิยมดี มากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ นางแสงดายึดหลักที่ว่า ตนเองไม่ได้มีความมุ่งหวังร่ำรวยจากการทอผ้า แต่ว่าปั่นทอด้วยความรัก และความตั้งใจช่วยเหลือเพื่อนบ้านให้มีรายได้บ้าง ด้วยเหตุนี้ทำให้นางแสงดาได้รับยกย่องให้เป็น
- ศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2529
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การถักทอ) เมื่อ พ.ศ.2529
- ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เมื่อ พ.ศ.2530
นางแสงดาถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2536 รวมอายุได้ 74 ปี
ข้อมูล : Google Doodle
ข่าวที่เกี่ยวข้อง