หลังจากออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักในช่วงมีกระแสการเลือกตั้ง สำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญา ทั้งการให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2566 กับสื่อญี่ปุ่น Kyodo News โดยเฉพาะการระบุถึงความต้องการกลับประเทศไทย ว่า อยากใช้ชีวิตที่เหลือกับลูก ๆ หลาน ๆ พร้อมแสดงความมั่นใจพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งโดยได้เสียงข้างมากอย่างแน่นอน
พร้อมระบุ “จะไม่ร้องขอให้มีการนิรโทษกรรม แม้ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยเข้ามามีอำนาจหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม ผมบอกกับลูกสาวว่า อย่าปล่อยให้พรรคผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผม ผมไม่ต้องการสิ่งนั้น เพราะคนที่ต่อต้านผมจะไม่มีความสุข”
ล่าสุด นายทักษิณ ซึ่งเคยแจ้งจะหยุดเคลื่อนไหว ในช่วงการเลือกตั้ง ได้ทวีตข้อความ เรื่องแนวคิดการกลับไทย จากการที่ “อุ๊งอิ๊ง” คลอดลูกชาย ว่า ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็วๆ นี้ ครับ ขออนุญาตนะครับ
ประเด็นต้องพิจารณา ก็คือ ทักษิณ จะกลับไทยในรูปแบบไหน อย่างไร หรือ ทักษิณ จะยอมเลือกติดคุก ในวัย 74 ปี หรือ มีวิธีการหลีกเลี่ยงในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ด้วย อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เคยแสดงความเห็นในเชิงกฎหมาย เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ว่า เป็นพระราชบัญญัติที่เข้มงวดต่อผู้ที่กระทำความผิด เช่น หากศาลพิพากษาว่าผิด แต่เจ้าตัวหลบหนี เพื่อให้หมดอายุความ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร นายประชา มาลีนนท์ หรือคนอื่นๆ ที่หลบหนีการถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาล แม้ว่าจะหลบหนีไปกี่ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ เป็นต้น
พร้อมย้ำสาระสำคัญ พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้การพิจารณาใช้ระบบไต่สวน คือ ศาลสามารถเรียกพยานมาไต่สวนเองได้ ถ้าผู้ต้องหาและจำเลยหลบหนีให้อายุความสะดุดหยุดลง คือคดีไม่มีขาดอายุความ ถ้าเป็นการหลบหนีในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้ศาลพิจารณาคดีและพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้
ถ้าศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วจำเลยหลบหนี เช่น นายทักษิณ ชินวัตร , นายประชา มาลีนนท์ หรือ คนอื่นๆ ที่หลบหนีการถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาล ต่อไปไม่ว่าจะหลบหนีไปกี่ปีคดีก็ไม่ขาดอายุความ หมายความว่าตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถจับตัวมาลงโทษตามคำพิพากษาได้ ถึงแก่ความตายเมื่อไหร่จึงจบกัน
ถ้าจำเลยหลบหนีในระหว่างการพิจารณาของศาลนอกจากนายประกันต้องเสียค่าปรับแล้ว จำเลยมีโทษจำคุกและโทษปรับด้วย
การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ถ้าจำเลยไม่ถูกคุมขังอยู่ จำเลยจะต้องมาปรากฎตัวต่อศาลชั้นต้นจึงสามารถยื่นอุทธรณ์ได้
ถ้าเจ้าหน้าของรัฐไม่ดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีประชาชนที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้
กำหนดให้มีการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ได้ไปจากการทุจริตและประพฤติมิชอบมาเป็นของรัฐด้วย