เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ และนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวเปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ ที่จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงาน กกต.และชี้แจงทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานให้ประชาชนรับทราบ และเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.
โดย นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า กกต.มีมติให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อให้มีคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ ขึ้นมาคอยตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริง จากนั้นก็จะรายงานให้คณะกรรมการเลือกตั้งได้รับทราบ โดยจะเน้นการชี้แจงข่าวเท็จจริงและไม่เป็นความจริงเพื่อให้ทันต่อการแก้ไขสถานการณ์ เนื่องจากในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 พบว่ามีข่าวเท็จจำนวนมาก ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของ กกต.ซึ่งในครั้งนั้นอาจเกิดจากการว่างเว้นการเลือกตั้งถึง 7 ปี ซึ่งข่าวที่ไม่เป็นความจริงเป็นการทำลายและทำให้การทำงานของ กกต.ไม่ราบรื่น และในครั้งนั้นก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี และศาลก็ได้มีคำพิพากษาแล้ว และในการเลือกตั้ง ปี 2566 ก็คาดว่าน่าจะมีข่าว เหมือนเช่นปี 2562 โดยผู้ที่ไม่หวังดี ยังมีอยู่ แม้ กกต.จะให้ข้อมูลมากเพียงไร ก็ยังมีผู้ที่มีอคติต่อการทำงานของ กกต.ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง จึงยังมีข่าวเท็จเผยแพร่ในโซเชียล โดยได้มีการแจ้งต่อผู้โพสต์หากยังไม่แก้ไข ก็จะมีการดำเนินคดีต่อผู้ให้ข่าวและผู้ประสงค์ดีกับ กกต.อย่างไรก็ตาม กกต.ยังเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ใช่การใส่ร้ายหรือให้ความเท็จจริง
ด้าน นายปกรณ์ กล่าวถึงข่าวก่อนหน้านี้ เช่น กรณีการยุบพรรคติดเทอร์โบ ก็ชี้แจงว่าเป็นการออกระเบียบตามกฎหมาย ซึ่งถ้าดูตามระเบียบแล้วจะเป็นการให้อำนาจเลขาธิการ กกต.สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว และการพิจารณาก็เป็นการทำโดยไม่มีเวลา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องยื่นหลักฐานต่อสู้ได้เต็มที่ รวมทั้งเรื่องการแบ่งเขตที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการแบ่งเขตแบบไม่มีเขตหลัก เอาแต่ใจ ยืนยันว่าเรื่องนี้เราถูกด่าเป็นเดือน และศาลปกครองได้มีคำพิพากษาแล้วว่าเราทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกกต.ทำตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด สิ่งที่เราทำเราให้เกียรติท่านที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทนเขต รวมทั้งกรณีบัตรเลือกตั้งที่ยังถูกต้องข้อสังเกตรายละเอียดบัตรทั้งสองใบ โดยรายละเอียดในบัตรเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่มาตรา 84 ของ พ.รป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นผู้กำหนด
ส่วนเรื่องพิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรองเกิน 7 ล้านเล่ม นายปกรณ์ ยืนยันว่า เป็นเรื่องเกินจริง ที่จริงแล้วมีการพิมพ์บัตรสำรองแค่ 5 ล้านใบ เท่านั้น เนื่องจากการพิมพ์บัตรต้องพิมพ์เป็นเล่มและสำรองแต่ละหน่วยเลือกตั้งๆ ละ 1 เล่ม ซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 1 แสนหน่วย ฉะนั้นก็สำรองส่วนนี้ 2 ล้านใบ รวมทั้งสำรองให้กรรมการประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้งที่จะใช้สิทธิในหน่วยดังกล่าวอีก 1 เล่ม ทั้งสองส่วนนี้ก็เกือบ 4 ล้านใบแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความผิดพลาดในการพิมพ์ ที่บางเล่ม มีจำนวนไม่ครบ หรือการพิมพ์ผิดพลาด ก็ต้องสำรองไว้อีก 1 ล้านใบ รวมแล้วก็เกือบ 5 ล้านใบ โดยเรื่องการพิมพ์บัตรสำรองดูตัวอย่างได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้สิทธิ 94 คนที่ซูดาน ที่เราต้องทิ้งบัตรเลือกตั้งนอกราชของทั้ง 94 คน หากเกิดกับประเทศใหญ่จะทำอย่างไร
“เราไม่จำเป็นต้องพิมพ์บัตรมากเกินไปแต่ต้องสำรองไม่ให้ผิดพลาด ต้องไม่มีการทุจริตในเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปิดการลงคะแนนทุกหน่วยจะติดประกาศที่หน้าหน่วยให้ทราบว่าใช้บัตรเลือกตั้งไปเท่าไร ผู้ใช้สิทธิเท่าไร เราถึงให้ความมั่นใจกับท่าน หากเกิดความผิดพลาดเล็กน้อย เราได้แก้ไขในทันทีและจัดให้ถูกต้องโดยเร็ว การผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกิดจากการเกิดทุจริต”
นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าจะมีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง โดยย้ำว่าไม่มีสัญญาณเรื่องการยุบพรรค แต่มันอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วง 1 – 2 วันนี้ ซึ่งเรื่องอะไรที่ไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบ ไม่มีอะไรปิดบัง ตนมีวาระอีกไม่นาน ยืนยันจะการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ขอให้สัญญาด้วยตำแหน่ง ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวซักถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นนั้น นายปกรณ์ ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไร แม้สื่อมวลชนพยายามจะถามว่าเรื่องการยุบพรรคหรือไม่ นายปกรณ์ ก็ปฏิเสธว่าอย่าไปคิดขนาดนั้น
นายปกรณ์ กล่าวชี้แจงถึงการติดตามข่าวที่มีผลกระทบต่อการทำงานของ กกต.โดยจะเน้นไปที่ต้นตอของข่าวที่จะมีการพิจารณาถึงการดำเนินคดี เบื้องต้นมี 2 เรื่อง กรณีการจัดดีเบตที่ จ.ชลบุรี ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ใช้คำพูดระบุว่า ปี 62 กกต.เปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรณี น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช แกนนำพรรคเพื่อไทย ดีเบตในเวทีเนชั่น ระบุว่า กกต.เปลี่ยนสูตรการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการของ กกต.ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังใช้คำพูดเหล่านี้เพื่อให้ตนได้คะแนนนิยม ซึ่ง กกต.จะพิจารณาเรื่องนี้หลังการเลือกตั้งเพราะถ้าทำตอนนี้จะมีผลต่อคะแนนเสียง เบื้องต้นให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล ซึ่งการจะดำเนินคดีกับใครนั้นจะเป็นมติของ กกต.อย่างไรตาม ต้องขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่สื่อมวลชนพยายามขอให้วิจารณ์การทำงานของ กกต.แต่นายเศรษฐาก็ไม่พูดถึง กกต.เป็นการส่วนตัว