จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ว่าจ้าง บ.นงนุช แลนด์แอนด์การ์เด้นดีไซน์ จำกัด ดำเนินการ โครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดพัทยาเหนือ-ใต้ ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มตั้งแต่โค้ง รร.ดุสิต พัทยาเหนือ ไปจนถึงปากทางวอล์คกิ้งสตรีท พัทยาใต้ งบประมาณกว่า 166 ล้านบาทเศษเพื่อเข้ามาดำเนินโครงการ ในช่วงระหว่างวันที่ 6 ส.ค.2564 ถึงวันที่ 3 พ.ค. 2566 รวมระยะเวลากว่า 820 วัน เพื่อปรับภาพลักษณ์ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในอนาคต โดยแผนการดำเนินการก่อสร้างในระยะแรกจะมีการถอนโค่นต้น ไม้ที่หมดสภาพออก ก่อนจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบใหม่ โดยจะเน้นการใช้ต้นปาล์ม อินทผลัม และมะพร้าวมาปลูกเสริม โดยใช้สัดส่วนของต้นไม้เก่า 75 % เพื่อให้เกิดความสวยงาม รวมทั้งการปูพื้นผิวและปรับแนวฟุตปาธให้สามารถใช้ในการพักผ่อนและออกกำลังกายได้ ที่สำคัญจะมีการจัดสร้างห้องน้ำสาธารณะสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยวและคนพิการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาพักผ่อน
ล่าสุดวันนี้ (17 ส.ค.) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังเกิดกรณีที่มีกระแสในโลกโซเชียลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะการคัดค้านการถอนโค่น “ต้นหูกวาง” ตามแนวชายหาด โดยมีการระบุว่าเป็นต้นไม้อายุมากที่ให้ร่มเงาและอยู่คู่กับชายหาดพัทยามาเป็นเวลานานนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยระบุว่าสำหรับโครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดพัทยาเหนือ-ใต้นั้น เป็นโครงการที่ขยายผลต่อยอดมาจากโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังดำเนินการในส่วนของชายหาดจอมเทียนในเฟสที่ 1 ซึ่งโครงการนี้มีการสำรวจ วางแผน ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบ การที่มีส่วนได้ ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายหาดเมืองพัทยาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและเป็นศูนย์กลางทาง การท่องเที่ยวและลงทุนของ EEC ตามแผนรัฐบาล จนกระทั่งได้รับงบประมาณอุดหนุนมาให้ดำเนินการซึ่งก็ได้ว่าจ้างและมอบหมายให้ไปจัดทำแล้วในขณะนี้
สำหรับตัวโครงการจะเน้นการขยายพื้นที่ผิวจราจรจากเดิมเพิ่มอีก 3 เมตร โดยตัดเอาพื้นที่แนวฟุตปาธเดิมฝั่งทะเลออก จากนั้นจึงจะขยายแนวฟุตปาธลงไปบนชายหาดไปชนกับแนวคันหินติดกับ Big Bag หรือเขตวัดการลื่นไหลของทรายของกรมเจ้าท่า นอกจากนี้จะมีการพัฒนาด้วยการปรับปรุงแนวฟุตปาธเพื่อให้ประชา ชนและนักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์ โดยมีพื้นที่ออกกำลัง ลานกิจกรรมสันทนาการ พร้อมการปรับแต่ง และปลูกต้นไม้เสริมเพื่อให้เกิดความสวยงามตลอดแนวชายหาดด้วย
นายสนธยา กล่าวต่อไปว่าสำหรับกรณีที่เป็นกระแสเรื่องการโค่นต้นหูกวางที่เป็นกระแสนั้น กรณีนี้ที่ผ่านมามีการสำรวจและพบว่าส่วนใหญ่เป็นการปลูกของผู้ประกอบการชายหาด ซึ่งที่ผ่านมาเมืองพัทยาก็ได้การประชาพิจารณ์ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่เป็นการจัดทำในรูปแบบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีปัญหาโควิดที่จะจัดให้มีการประชุมเป็นกลุ่มย่อย ทั้งนี้จากการจัดทำรวมทั้งการสำรวจแนวต้นไม้โดยละเอียดตลอดแนวชายหาดพบว่าต้นหูกวางมีจำนวน 100 กว่าต้น ทั้งหมดเป็นไม้เนื้ออ่อน โตง่าย ซึ่งแม้จะให้ร่มเงา แต่ก็มีปัญหาเรื่องของการผุกร่อน หักโค่นง่าย มีการผลัดใบมาก ที่สำคัญยังมีปัญหาหนอนระบาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างปัญหามากเช่นกัน ผิดกับต้นไม้เนื้อแข็งอย่างต้นเกตุหรืออื่นๆที่ยังคงรักษาไว้ พร้อมกันนี้จึงได้มอบหมายผู้รับจ้างเร่งดำเนินการ ด้วยการปรับภูมิทัศน์ใหม่ทั้งหมดซึ่งอาจจะมีการตัดแต่ง การถอนโค่น หรือเคลื่อนย้ายแนวต้นไม้ และการปลูกต้นไม้ใหม่ขึ้นมาเสริมโดยจะใช้ต้นไม้เดิมในสัดส่วน 75 %
ขณะที่บางกระแสกล่าวว่าควรนำงบไปจัดซื้อวัคซีนเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้น กรณีนี้เป็นคนละส่วน และงบคนละโครงการกัน เพราะในส่วนของปัญหาโควิด-19 นั้นเมืองพัทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยจะเห็นได้จากการจัดซื้อ “ชิโนฟาร์ม” จากสถาบันจุฬาภรณ์ฯจำนวน 5 หมื่นโดส ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดแล้วจำนวน 3 หมื่นโดสที่มีการชำระเงินเป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งการจัดเงินสำหรับเยียวยาประชาชนในพื้นที่ครอบครัวละ 2,000 บาทจำนวนกว่า 20,000 ครอบครัว และการจัดหาชุดตรวจ ATK เพื่อมาตรวจเชิงรุกให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยงซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้แยกปัญหาและความสำคัญด้านการพัฒนากับการควบคุมและป้องกันปัญหาโรคระบาดด้วย