เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยกับทีมข่าว TOP NEWS ถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน โดยมีผลทันที และจะมีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคก้าวไกล ว่า ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เป็นว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โดยหอการค้าในเรื่องของค่าแรงของแรงงานนั้น ได้มีจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลคสช.ว่า ในการปรับค่าแรงทั้งหมดจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับข้อกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของไทย และ สอดคล้องกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งใน ทางกฎหมายมีความชัดเจน คือ ความจำเป็นของการปรับค่าแรงในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องไม่เท่ากัน เพราะสภาพ สังคมเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงความสามารถในการทำรายได้ของแต่ละจังหวัด รวมถึงได้มีหน่วยงานไตรภาคีภาคแรงงานของจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย นายจ้าง – ลูกจ้างและหน่วยงานราชการ ที่จะมีการประชุมร่วมกันก่อนจะมีการปรับค่าแรงในแต่ละครั้ง ว่า ในแต่ละจังหวัดได้ประสบปัญหาใดบ้าง เศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดคืออะไร ซึ่งไม่เหมือนกันทุกจังหวัด
โดยจะมองถึงความจำเป็นในแต่ละจังหวัดก่อนจะพิจารณาออกมาว่า จะมีการปรับค่าแรงหรือไม่ และปรับในอัตราเท่าใด หรือไม่ปรับ ก่อนจะแจ้งกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อพิจารณาให้รอบด้านอีกครั้ง เพื่อให้แรงงานอยู่ได้ โดยการนำตัวเลข 10 ดัชนี เช่น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ดอกเบี้ย พลังงาน ค่าไฟ น้ำมัน เป็นต้น เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของไทย
“เงินเฟ้อ เป็นตัวสำคัญมากที่มีการชี้ให้เห็นว่า ควรปรับประมาณเท่าไหร่ หอการค้าฯ เรายืนยันในจุดนี้ ว่า เราสนับสนุนสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมาย , ตามพ.ร.บ. และตาม ILO โลก (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) โดยหอการค้าฯ ได้มีการกล่าวไปหลายครั้งตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่านโยบายเรื่องค่าแรง นำมาใช้เป็นการหาเสียงค่อนข้างอันตรายมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่เปราะบางมากกับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรงโดยที่ไม่มีตัวที่อ้างอิงได้ตามกฎหมาย หรือวิธีขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักลงทุนที่ลงไปแล้ว และนักลงทุนทั้งไทยและเทศที่กำลังจะมาอยู่ หรือกำลังจะลงทุนอยู่ เพราะถ้าไม่มีมาตรฐานในการขึ้นค่าแรงที่จับต้องได้ กลายเป็นว่า นักลงทุนมาก็ไม่รู้ว่า เดี๋ยวคนต่อไปจะปรับเท่าไหร่ มันไม่มีหลักการของมัน เพราะฉะนั้น จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อการลงทุนมาก สำหรับการลงทุนใหม่ ขณะที่ นักลงทุนรายเดิมที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย จะเป็นการเพิ่มภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ”