“สภาพัฒน์” ชี้นโยบายขึ้นค่าแรง เพิ่มต้นทุนธุรกิจ หวั่นกระทบต่างชาติตัดสินใจลงทุน

เลขาธิการ สภาพัฒน์ พร้อมเดินหน้าต่อนโยบายเดิม ช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ชี้นโยบายขึ้นค่าแรง ทำต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น ย้ำต้องพิจารณารอบคอบเหตุมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนนโยบายด้านสวัสดิการต้องช่วยแบบพุ่งเป้า หากช่วยแบบถ้วนหน้าเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังระยะยาว

วันนี้ (22 พ.ค.66) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าว “รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2566” เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงาน ว่า ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานมีการทำงานล่วงเวลามากขึ้นและได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

 

การจ้างงาน ผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรม อยู่ที่ 11.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม อยู่ที่ 28 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวได้เล็กน้อย

 

 

ขณะที่สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้าง ที่หดตัวถึงร้อยละ 7.2 และ 1.6 ตามลำดับ ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 41.4 และ 44.3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับผู้ทำงานล่วงเวลาที่มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่าร้อยละ 11.3 อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 1.05 โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.2 แสนคน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป

1. การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอทีจากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 2 – 3 หมื่นตำแหน่ง แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ

2. รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรมจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร

3. พฤติกรรมการเลือกงาน โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่

ข่าวที่น่าสนใจ

 

 

 

นายดนุชา กล่าวถึงนโยบายการขึ้นค่าแรง ตามที่มีการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งเชิงบวก และเชิงลบ เชิงบวก คือทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเชิงลบ ในแง่ของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่อนข้างสูง และจะมีการส่งผ่านต้นทุนเหล่านี้ เข้าสู่เรื่องราคาสินค้า ต้องพิจารณาให้ดี ว่าด้วยสถานการณ์ของไทยโดยเปรียบเทียบ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยที่ผ่านมา ไทยใช้เรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากทักษะที่เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ ต้องดูสถานการณ์ของหลายประเทศให้ดี และดูภาระที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนด้วย และที่สำคัญ หากมีการรับเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี ก็จะได้รับผลกระทบทั้งฝั่งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะฝั่งรัฐ ก็ต้องปรับโครงสร้างระบบเงินเดือนใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นงบประจำ ต้องพิจารณารอบคอบอีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

นายดนุชา ระบุว่า ถ้าแรงงานเงินไม่พอใช้ ต้องกลับมาดูตัวทักษะแรงงานเป็นอย่างไร และอยู่ในพื้นที่ไหน ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ค่าครองชีพสูง ก็ต้องพยายามหาวิธีการเพิ่มค่าแรงให้กับตนเองด้วย และมองว่า ค่าแรงไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ เพราะแต่ละแห่งจะมีค่าครองชีพที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ต้องดูให้เหมาะสม จะขึ้นหรือไม่ขึ้น คงต้องเข้าไปดูในการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะมีทั้งภาคแอกชน ภาครัฐ และผู้ใช้แรงงานที่จะคุยกัน

“การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ เพราะโดยเชิงเปรียบเทียบ มันก็ไปพันกับเรื่องของการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปเหมือนกัน”

ส่วนเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการ นายดนุชา ระบุว่า สวัสดิการภาครัฐ ไทยมีข้อจำกัดมากในการหารายได้ ถ้าเห็นในต่างประเทศ ภาษีจะสูงมาก อาทิ ฝรั่งเศส และสแกนดิเนเวีย และนำเงินเหล่านั้นมาจัดสวัสดิการให้กับประชาชน แต่ในเคสของไทย ฐานภาษีค่อนข้างแคบ แม้ว่ามีผู้ยื่นแบบภาษีประมาณ 10-11 ล้านคน แต่เสียภาษีจริงไม่เกิน 4 ล้านคน เพราะฉะนั้น ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ ต้องพุ่งเป้า การช่วยแบบถ้วนหน้าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องฐานะการเงินการคลังระยะยาว และต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี ส่วนหนึ่งเพื่อทั้งนำมาใช้เป็นสวัสดิการ และส่วนหนึ่งนำพัฒนาประเทศด้วย ต้องดูอย่างละเอียด ในการทำสวัสดิการในช่วงถัดไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง การจัดทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ สภาพัฒน์มองว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไรบ้าง นายดนุชา ระบุว่า เชื่อว่า คนที่เข้ามา ก็คงมีความสามารถอยู่แล้ว ถึงได้เลือกกันเข้ามา และอยู่ที่ทางสื่อมวลชน และภาคธุรกิจต่าง ๆ จะพิจารณา ทั้งนี้ ตนคงไม่สามารถตอบได้ว่าใคร เป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาครัฐ ที่มีความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ก็คงต้องเดินหน้าต่อ ในแง่ของสิ่งที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ นโยบายหลาย ๆ ตัวที่ทำไว้ และจะมีส่วนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ก็คงต้องเดินหน้าต่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น