“ส.ว.ประพันธ์” ฉะ “พิธา” เดินย่ำรอยเท้า “ธนาธร” ชี้ชัดปมสละมรดกโอนหุ้นไอทีวี บานปลายเข้าข่ายสร้างหลักฐานเท็จ เสี่ยงพาญาติพี่น้องติดคุกอีกคดี

“ประพันธ์” ยัน “พิธา” เดินย่ำรอยเท้า “ธนาธร” บอกไร้สาระอ้างมีคนคืนชีพ ITV หวังสกัดดาวรุ่ง ชี้สละมรดกโอนหุ้นไม่มีผลทางกฎหมาย เข้าข่ายสร้างพยานหลักฐานเท็จ เสี่ยงพาญาติพี่น้องติดคุกอีกคดี เตือนโทษหนักผิดม.151 รู้อยู่แล้วมีหุ้นสื่อแต่จงใจปกปิดเจอคุก- เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี แถมเรียกเงินเดือนส.ส.คืนย้อนหลังตั้งแต่ปี 62 ด้วย จี้ยอมรับความผิดพลาด อย่าปลุกปั่นบิดเบือนประชาชน

วันที่ 8 มิ.ย.66 นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และทนายความชื่อดังให้สัมภาษณ์กับ Top News ถึงกรณีหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่เป็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะมาเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ต้องรู้จะปฏิเสธไม่รู้ไม่ได้ตามหลักกฎหมายทั่วไปมีอยู่แล้ว ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพระราชบัญญัติพรรคการเมืองล้วนเป็นเรื่องที่คนจะมาเป็นนักการเมืองลงสมัครส.ส.จำต้องศึกษาและรับรู้ ยิ่งในฐานะความเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้ว ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่รู้กฎหมายเรื่องนี้

และที่สำคัญกฎหมายข้อนี้บัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2560 ตามมาตรา 98 (3) ซึ่งบุคคลนั้นต้องรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่กับตัวหรือไม่ ถ้ารู้แล้วต้องโอนออกไป หรือสละการเป็นผู้ถือหุ้นนี้เสียก่อนที่จะมารับสมัครเลือกตั้ง เพราะยังมีพรป.ว่าด้วยการสมัครส.ส. มาตรา 151 ยังบัญญัติรองรับหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อีกด้วยว่าถ้าผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิ์แล้วไปสมัครทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ มีโทษทางอาญาว่าทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถได้ส.ส. เมื่อเลือกมาก็ต้องถูกเพิกถอนถูกร้องเรื่องการขาดคุณสมบัติ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

ทำให้รัฐเสียงบประมาณในการบริหารจัดการเลือกตั้งเพราะฉะนั้นการที่รู้อยู่แล้วและจงใจสมัครมีโทษอาญาจำคุกตั้งแต่ 1- 10 ปี และมีโทษปรับ 20,000 – 200,000 บาทและลงโทษหนัก ให้ศาลเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง 20 ปี เรื่องนี้เป็นโทษร้ายแรง รวมถึงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งที่ได้เคยรับมาตั้งแต่เป็นส.ส.ปี 2562 ต้องคืนรัฐ เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับตนก่อนจะรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นส.ว.ถ้ามีหุ้นสื่อก็ต้องโอนก่อนให้เรียบร้อย

ขณะที่เพิ่งทราบจากการโพสต์ของนายพิธา ว่ามีการโอนหุ้นITV ออกไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมแต่อ้างว่าจำวันที่ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะภายในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ถือว่าโอนหลังจากวันรับสมัครเลือกตั้งมาแล้ว คือเดือนเมษายน ซึ่งการโอนหุ้นนั้นก็ไม่ทราบว่าโอนในฐานะอะไรและโอนในลักษณะใด จะโอนไปในฐานะเจ้าของหุ้นโอนไปให้คนอื่น หรืออ้างว่าโอนไปให้ทายาทในฐานะการเป็นผู้จัดการมรดก เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือเป็นการสละมรดกไม่รับทรัพย์สินมรดกแล้วโอนไปให้คนอื่น ซึ่งจากที่ได้ฟังกุนซือทางกฎหมายของนายพิธา มั่นใจว่านายพิธาจะรอดคดีหุ้น ITV ถือว่าการถือครองตั้งแต่แรกนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของถือครองในฐานะผู้จัดการมรดกและได้สละสิทธิ์ ซึ่งคำว่าสละสิทธิ์ไม่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งเรื่องหมวดของมรดก มีแค่การสละมรดกซึ่งอนุมานความเข้าใจได้ว่า อ้างว่านายพิธาได้สละมรดกไปแล้วโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับมรดกส่วนนี้และโอนไปให้ทายาท ทำให้มีผลเสมือนหนึ่งย้อนหลังไปว่าไม่เคยเป็นเจ้าของหุ้นนั้น คิดว่าจะเอาเหตุผลนี้เป็นข้ออ้างต่อสู้คดีและชี้แจงข้อกล่าวหากับศาลรัฐธรรมนูญและกกต. โดยนายประพันธ์ ระบุว่า เหตุผลนี้ไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะนายพิธา ครอบครองหุ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ตั้งแต่บิดาเสียชีวิตในลักษณะเป็นเจ้าของ ไม่ได้ระบุสถานะว่าเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก

ส่วนประการที่ 2 ถ้าจะมีการสละมรดก จะต้องสละมรดกตั้งแต่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดก และการสละมรดกต้องสละทั้งหมดไม่ใช่การสละทรัพย์บางส่วน ที่สำคัญไม่มีผลทางกฎหมายจึงอยากให้นายพิธาเปิดเผยต่อสังคม ว่า มรดกของพ่อมีทรัพย์สินอะไรบ้าง และทำไมยังไม่มีการแบ่งมรดกกับทายาทจริงหรือไม่ หรือมีเฉพาะแค่หุ้น ITV ที่ยังไม่ได้แบ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้และการแบ่งทรัพย์มรดก ใครครอบครองอะไรก็ถือว่าเป็นการแบ่งมรดกเป็นสัดส่วนไปแล้ว ซึ่งถือเป็นวิธีแบ่งมรดกอีกวิธีหนึ่ง

ดังนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าการสละมรดกจริง ต้องทำตามกฏหมาย มาตรา 1612 ต้องทำเป็นหลักฐานหนังสือแสดงไว้กับเจ้าหน้าที่พนักงานหรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างทายาท ปัญหาคือ ผ่านมา 17 ปี ได้ทำแล้วหรือไม่และถ้าไม่ได้ทำจะมาอ้างว่าสละมรดกก็จะเข้ารูปแบบเหมือนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คือการทำหลักฐานย้อนหลัง ซึ่งไปทำสัญญาประนีประนอมกันเองย้อนหลัง 17 ปีเพื่อให้มีผลทางกฎหมายก็เป็นการแต่ง “นิตินิยาย” แล้วศาลจะเชื่อตามหรือไม่

จะกลายเป็นว่าต้องเอาหลักฐานและญาติไปยืนยันกับศาลว่ามีการประนีประนอมกัน ถือเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง แล้วพี่น้องจะยอมมาเบิกความศาลให้หรือไม่ เพราะถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงติดคุก ฉะนั้น นายพิธาก็ต้องตรึกตรองให้ดีว่าจะทำตาม ที่มาคนแนะนำหรือไม่ เพราะนอกจากคดีการถือครองหุ้นจะไม่หลุดแล้ว จะกลายเป็นเพิ่มโทษคดีอื่นเข้าไปอีก งานงอกเลยคราวนี้แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มอีก จะเข้าข่ายสร้างพยานหลักฐานเท็จด้วย เพราะการสละมรดกเฉพาะหุ้น ITV ไม่ได้ ต้องสละมรดกทั้งหมดให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งที่บอกว่าสละอย่างไม่มีเงื่อนไขการจะมาสละตอนนี้ไม่ได้

ทั้งนี้นายประพันธ์ ระบุชัดว่าทิศทางของคดีนี้นายพิธาแนวโน้มจะเดินไปทางเดียวกับนายธนาธร เพราะมีความบ่งชี้ไปทางนั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายธนาธรเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามคำวินิจฉัยที่ 14 / 2562 เป็นคดีถือหุ้นสื่อเหมือนกันเป็นการถือหุ้นสื่อโดยตรงที่ยังประกอบธุรกิจสื่ออยู่ แน่นอนว่านายพิธาอาจจะต่อสู้ได้ว่าบริษัท ITV ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อแล้ว ก็ไปสู้เอาแล้วกันว่าศาลจะเชื่อหรือไม่

เพราะตามรายงานงบดุล งบบัญชีทุกปีที่บริษัทต้องส่งตลาดหลักทรัพย์ มีปรากฏลายลักษณ์อักษรอย่างครบถ้วน และคดีที่บริษัท ITV เป็นคู่ความฟ้องกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือ สปน.อยู่นั้นก็เพราะว่า ITV ไม่พอใจที่สปน.มาเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสื่อแล้วยึดคลื่นไปให้ไทยพีบีเอส ซึ่งเกิดขึ้นสมัยที่ตน เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ขณะนั้น รู้อยู่แล้วว่า ITV ต้องการประกอบธุรกิจสื่อต่อ จึงมีการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาว่าคำสั่งของสปน. ชอบหรือไม่ชอบ ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้ชี้ให้ITV ชนะ และเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นพันล้าน จนสปน. ต้องร้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ แสดงให้เห็นว่า ITV มีเจตนาต้องการดำเนินธุรกิจสื่อต่อไป และที่สำคัญยังไม่ได้เลิกบริษัทตามบริคณห์สนธิก็ระบุชัดอยู่แล้วว่าประกอบธุรกิจอะไร

เพราะฉะนั้นประเด็นที่นายพิธาหยิบยกขึ้นมา อ้างว่ามีการกลั่นแกล้งมีคนพยายามฟื้นคืนชีพITV ให้เป็นสื่อเพื่อสกัดตนเองนั้นเป็นประเด็นไร้สาระไม่ใช่สาระสำคัญทางคดี ถึงจะมีคนถามหรือไม่ถามแต่เอกสารหลักฐานการจดทะเบียนของบริษัทชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นการต่อสู้เพื่อจะดำเนินธุรกิจต่อไม่ใช่การฟื้นคืนมาเพื่อเล่นงานนายพิธา ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย

ทั้งนี้ปัญหาคือนายพิธา รู้อยู่แล้วว่าถือหุ้นสื่อและมีปัญหาเพิ่มขึ้นคือนายพิธาจะโดนอีกหนึ่งคดีคือการปกปิดไม่แจ้งรายการบัญชีทรัพย์สินหรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จตั้งแต่การเป็นส.ส.เมื่อปี 2562 แล้ว จากการตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สินเมื่อตอนเป็นส.ส.ของนายพิธานั้น ไม่พบการแจ้งว่ามีหุ้น ITV อยู่ด้วย

ข่าวที่น่าสนใจ

เพราะถ้ามีการแจ้งว่ามีหุ้นนี้ก็ต้องมีการจัดการไปตั้งแต่ปี 2562 แล้วการถือหุ้นสื่อมาสมัครส.ส.ได้อย่างไรแสดงว่าไม่ได้แจ้งตั้งแต่นั้นมา และเพิ่งมาแจ้งภายหลังเนื่องจากหุ้น ITV มีมาตั้งแต่ 2549 แล้วดังนั้นการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือปกปิด ถ้าปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงนี้และมีคนไปร้องป.ป.ช. นายพิธาก็จะโดนข้อหา การแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ถ้าแจ้งก็ถือว่ารอดไป ซึ่งจากที่ดูการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินที่เปิดเผยออกมานั้นพบว่าเป็นชื่อของนายพิธาโดยตรงไม่มีวงเล็บต่อท้ายว่าในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด และหากไปดูเงินปันผลของหุ้น ITV เข้าบัญชีใครก็จะจบเพราะดูไม่ยากว่าหุ้นเป็นของใครเงินก็จะเข้าบัญชีนั้น

คำวินิจฉัยของศาลมีบรรทัดฐานไว้อยู่แล้ว เพราะตราบใดที่ในบริคณห์สนธิของบริษัทยังไม่จดยกเลิกกิจการ และมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อ เพียงแค่นี้ศาล ก็วินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อ กรณีนี้ยิ่ง ITV มีการต่อสู้เพื่อให้ได้กลับมาดำเนินกิจการสื่อตามปกติ ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่


นอกจากนี้ ที่มีการอ้างคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด และศาลฎีกาของคดี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคดี ที่มีข้อเท็จจริงแตกต่างกันเพราะนายชาญชัยไม่ได้ถือหุ้นสื่อโดยตรง ซึ่งทั้งคำพิพากษาของศาลปกครองและศาลฎีกาไม่ได้ผูกพัน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วคดีของนายพิธา ตรงที่สุดกับคดีของนายธนาธร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นบรรทัดฐานและผูกพันทุกองค์กรหากคดีในลักษณะนี้ก็ต้องยึดตามศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้ายึดตามข้อเท็จจริงในทางกฎหมายแล้ว นายพิธาต้องยอมรับความจริง ว่านายพิธา พลาดและประมาท หรือจงใจก็ไม่รู้ เพราะรู้อยู่แล้วจากเคสตัวอย่างของนายธนาธรที่มีผลทำให้ไม่ได้เป็นส.ส. และต้องผลจากหัวหน้าพรรคแม้ว่าจะอ้างหรือแก้ตัวว่าเป็นการถือแทนเป็นผู้จัดการมรดกแต่ก็รู้ว่าเป็นหุ้นสื่อ ถือว่านายพิธา มีความจงใจที่จะสุ่มเสี่ยงด้วยตัวเอง คุณทำตัวเอง ไม่มีใครไปแกล้งคุณ

นายประพันธ์ ระบุอีกว่า กติกานี้ใช้กับทุกคนไม่ได้ใช้กับนายพิธาคนเดียว นักกฎหมายส.ส.ส.ว.ก็โดนด้วยเรื่องนี้กันทุกคน เพราะฉะนั้นในเมื่อนายพิธาเก็บงำหุ้นสื่อไว้ โดยไม่บอกใคร จนกระทั่งมีคนไปขุดคุ้ยเจอ มันจะฟังเป็นอื่นไม่ได้ ว่าคุณมีเจตนาปกปิดและรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติที่จะมาสมัครและถ้ามีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมามีสิทธิ์จะพ้นจากตำแหน่งส.ส.และแคนดิเดตนายกฯได้ เรื่องนี้เป็นกฎกติกาของบ้านเมืองที่ทุกคน ต้องเคารพการจะไปให้ข้อมูลกับมวลชนที่สนับสนุนพรรคในลักษณะผิด ๆ เหมือนว่ามีขบวนการกลั่นแกล้ง สร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะเล่นงานไม่ให้เป็นนายกฯ กระทั่งมีการปลุกระดมมวลชนไปถึงว่า ไม่มีอำนาจใดที่จะมาขัดขวาง 14 ล้านเสียงที่เลือกมาไม่ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายก ปลุกระดมมวลชนให้ออกมาปกป้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด

“คุณต้องสอนประชาชนให้เคารพกฎหมายและตัวคุณเองก็พยายามบอกว่าผู้นำประเทศต้องสามารถตรวจสอบได้เหมือนที่ นายพิธา บอกว่าจะไปตรวจสอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตอนนี้ตัวนายพิธา อยู่ในฐานะเดียวกันก็ต้องถูกตรวจสอบได้เหมือนกัน กระบวนการตรวจสอบนี้ไม่ใช่ กระบวนการนิติสงครามอย่างที่พวกคุณ โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าให้คนเข้าใจผิด ๆ”

นายประพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า แต่ทุกคนถูกตรวจสอบแบบนี้หมดถ้ามาอยู่ตำแหน่งนี้ เช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร ถูกตรวจสอบคดีซุกหุ้น นายณรงค์ วงศ์วรรณ ก็เคยตรวจสอบเรื่องนี้มาแล้วจนไม่ได้เป็นนายกฯ เนื่องจากอเมริกาไม่ให้วีซ่าเพราะมีข้อมูลพัวพันกับการค้ายาเสพติด ทุกคนที่เข้ามา สู่กระบวนการทางการเมืองตรงนี้ต้องถูกเอกซเรย์ตรวจสอบทั้งนั้นไม่มีใคร ยกเว้นการไปปลุกระดมมวลชนให้เข้าใจผิดว่ามีกระบวนการกลั่นแกล้งนั้นไม่ใช่ จะกลายเป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเกิดความไม่สุขสงบในบ้านเมืองได้ เพราะฉะนั้นการเป็นผู้นำทางการเมืองต้องมีภาวะผู้นำและต้องมีความรับผิดชอบด้วยรู้แพ้รู้ชนะเคารพกติกา ถ้าไม่ชอบกติกานี้ก็ไปกระบวนการรัฐสภาที่จะต้องไปปรับปรุงแก้ไข แต่กติกานี้ผ่านความเห็นชอบลงประชามติมาแล้วจะมาล้มล้างกฎหมายและหาว่ากฎหมายมารังแกนั้นไม่ใช่

ปัญหาคือคุณทำผิดกฎหมายเสียเอง ไม่ใช่กฎหมายรังแก เพราะกฎหมายถูกวางไว้เป็นบรรทัดฐานที่จะต้องปฏิบัติกับทุกคน ไม่ควรสร้างกระแสปลุกปั่นให้คนเข้าใจผิด ซึ่งการสร้างเงื่อนไขแบบนั้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายความไม่สงบในบ้านเมืองจะกลายเป็นข้อหาใหม่เพิ่มขึ้นมา แพ้แล้วก็ต้องยอมรับ ผิดพลาดก็ต้องยอมรับความผิดพลาด เหมือนอย่างนายธนาธรที่ยอมรับความผิดพลาด และยังมีโอกาสกลับมาสู่เส้นทางการเมืองได้อีก

ส่วนประเด็นใหม่ที่น่าสนใจ คือข้อบังคับพรรคของพรรคก้าวไกล แตกต่างกับกรณีข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ที่พรรคก้าวไกลมีการแก้ข้อบังคับให้สมาชิกพรรคต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนั้น นายประพันธ์ ระบุว่า เป็นเรื่องข้อบังคับพรรคมีผลทำให้สถานะความเป็นสมาชิกพรรคของนายพิธา หากวินิจฉัยแบบนี้ก็จะเป็นปัญหาเรื่องการดำเนินการใดในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบ แต่ทั้งนี้ก็อาจมีกฎหมายอื่นเข้ามามีบทยกเว้นในความสมบูรณ์ ของคุณสมบัติบุคคลที่ถูกรับรอง การรับรองผู้สมัครเป็นเรื่องระเบียบภายใน ขึ้นอยู่ที่ศาลว่าจะมีดุลพินิจอย่างไร ซึ่งยึดความยุติธรรมเป็นสำคัญ

ส่วนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการมีนักกฎหมายที่รอบรู้รอบคอบและแม่นกฎหมาย จะช่วยทำให้ประวัติศาสตร์ไม่เดินซ้ำรอยนั้น นายประพันธ์ ยอมรับว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ถือว่ามีบทเรียนมา 2 ครั้งและความผิดพลาดที่มีผลกระทบไปถึงหัวหน้าพรรค จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเพราะไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งที่รู้อยู่แล้วแต่อาจมีความดื้อรั้น ถ้าเป็นนักกฎหมายที่ดีจะต้องไม่ให้หัวหน้าพรรคอยู่บนความเสี่ยงถ้าโอนหุ้นนี้ไปก่อนสมัคร ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายและไม่มีความเสี่ยงที่จะยืนอยู่ในการ ตกเป็นจำเลยสังคม ตกเป็นจำเลยของศาล ไม่ต้องมาชี้แจงหรือเดือดร้อนหาข้อเท็จจริงหรือสร้างพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา กลายเป็นภาระโดยใช่เหตุ

ถ้าเป็นนักกฎหมายที่ดีต้องเล็งเห็นอยู่แล้วว่านี่เป็นการกอดระเบิดไว้กับตัว ทำไมไม่ถอดสลักนี้ไปเสีย ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองมาอยู่บนจุดเสี่ยง ไม่ทราบว่าทำไมนักกฎหมายไม่แนะนำหรือว่าแนะนำแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตาม แต่ถือเป็นบทเรียนที่ไม่ควรเกิดขึ้น เหมือนนายธนาธร และในส่วนของพรรค แม้เป็นคนละเรื่องแต่ก็ถูกยุบ ด้วยการไปให้พรรคกู้ บริจาคเงินเกินกว่ากฎหมายที่กำหนด ไม่รู้ว่านักกฎหมายคนไหนแนะนำว่าไม่มีปัญหา ถือเป็นบทเรียน

“ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญอันหนึ่งของพรรคการเมืองและนักการเมืองนั่นก็คือความเคารพต่อกฎหมายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของบ้านเมืองเพราะเราจะมาเป็นผู้นำของประเทศ ถ้าไม่เป็นแบบอย่างเรื่องนี้เราจะปกครองคนอื่นยาก เราเรียกร้องเคร่งครัดกับคนอื่นเคารพกฎหมาย ปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่กระทำการอันใดเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เราด่าคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ตัวเราก็ต้องเป็นแบบอย่างด้วย แต่ถ้าคุณไม่เป็นแบบอย่างในการเคารพกฎหมาย ไม่ยึดในรัฐธรรมนูญ ตามกล่าวคำปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ ว่าจะยึดถือและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเคารพต่อสถาบันถ้าไม่ปฏิบัติตาม คำสาบาน ของเราก็ไม่มีความหมาย…ทุกอย่างกำลังเดินไปตามกระบวนการของมัน ขอให้อยู่บนหลักการสู้กันด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อย่าไปสร้างพยานหลักฐานอะไรขึ้นมาที่สุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการสร้างพยานหลักฐานเท็จ จะพลอยมีคดีลูก คดีหลาน ติดตัวเพิ่มขึ้นไปอีก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ขุนเขา ‘ฮว่าซาน’ ่ของจีนสวยสะกดยามห่มหิมะขาว
ทหารพรานจัดกำลังตรวจค้นเก็บกู้บ่วงดักสัตว์ป่า
ผลักดัน ! แรงงานต่างด้าวมากกว่า 100 ราย ออกนอกประเทศ หวั่นเกรงมาสร้างความวุ่นวายในพื้นที่
เมืองคอนน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ หากผลไม่หยุดตกคืนนี้ตัวเมืองอ่วมอรทัยแน่นอน-ในเบื้องต้นนายอำเภอ,นายกเล็กฯจับมือศูนย์ข่าวนคร 24 ชั่วโมงสมาคมสื่อมวลชนและชมรมรถจิ๊ปลุยช่วยชาวบ้านแล้ว-เรียกร้องเจ้าพนักงานที่ดินเด้งตรวจสอบนายทุนถมลำคลองปิดกั้นทางน้ำว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โซเชียลถามกลับ “พรรคส้ม” รู้ยังมีทหารไว้ทำไม? หลังเกิดเหตุการณ์ "กลุ่มว้าแดงและทหารไทย"
ผบ.สอ.รฝ.ประดับเครื่องหมายเลื่อนยศ นักรบต่อสู้อากาศยาน 46 นาย
‘สามารถ’ คอตกศาลไม่ให้ประกัน เตรียมส่งเข้าเรือนจำ ส่วน ‘แม่’ วางเงิน 5 แสนบาท ได้รับปล่อยตัว
"กองทัพภาคที่ 3" แถลงข่าวแจงพื้นที่ "กองกำลังว้าแดง" ตั้งฐานปฏิบัติการลุกล้ำไทย ยังไม่มีการสำรวจ หรือปักปันเขตแดน
ตึงเครียด! “ว้าแดง” บุกประชิดชายแดนไทย “บิ๊กอ้วน” พูดแล้ว รบ-ไม่รบ
ชาวบ้านเดือดร้อนหนักน้ำท่วมเดือดร้อนแสนสาหัส - หลังนายทุนออกโฉนดที่ดินถมลำคลอง"ห้วยพาน" ปิดกั้นทางน้ำสิ้นเชิง นายกเล็กฯ เบื้องต้นระดมกำลังช่วยเหลือ ที่ร้องเรียนเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบว่าออกจะโดดที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่แต่กลับ ล่าช้า อึดเหมือนเรือเกลือ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น