วานนี้มีความคืบหน้าเรื่องของการรับรองส.ส. หลังกกต.มีการประชุมและมีมติรับรองส.ส.เขตราว 329 คน ตามที่สำนักงานเสนอเรื่องมาให้ ส่วนที่เหลืออีก 71 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งที่มีเรื่องถูกร้องคัดค้านมากน้อยต่างกันไปตามที่กกต.จังหวัดรายงานมาให้ทราบ แว่วมาเบื้องต้น 71 เขต 71 คน จาก 37 จังหวัด ที่มากสุดก็มี 4 จังหวัดคือ บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ศรีสระเกษ อุบลราชธานี จังหวัดละ 4 คน แต่ถ้าแบ่งเป็นรายพรรคพบว่า ภูมิใจไทยมีมากสุด 23 คน เพื่อไทย 17 คน พลังประชารัฐ 16 คน พรรค ก้าวไกล 6 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน รวมไทยสร้างชาติ 3 คน ไทยสร้างไทย 2 คน และ เพื่อไทยรวมพลัง 1 คน
ส่วน 40 จังหวัด 329 เขต ที่กกต.ไฟเขียวให้ผ่านการเลือกตั้ง ก็ประกอบด้วย กระบี่ , กาฬสินธุ์ , จันทบุรี , ชัยนาท , ชุมพร , เชียงราย , ตราด , ตาก , นครนายก , นครปฐม , นครสวรรค์ , นนทบุรี , นราธิวาส , น่าน , ปทุมธานี , ปราจีนบุรี , ปัตตานี , พะเยา , แพร่ , แม่ฮ่องสอน , ยะลา , ระนอง , ระยอง , ราชบุรี , ลพบุรี , ลำปาง , ลำพูน , สตูล , สมุทรปราการ , สมุทรสงคราม , สมุทรสาคร , สระบุรี , สุโขทัย , สุพรรณบุรี , สุรินทร์ , หนองคาย , หนองบัวลำภู , อ่างทอง , อุตรดิตถ์ และ อุทัยธานี อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในสัปดาห์หน้ากกต.ชุดใหญ่น่าจะเคาะรับรองส.ส.เขตเพิ่มได้อีก 50 คน รวมกันเป็น 380 คน ซึ่งเกิน 95 % ของจำนวนส.ส.เขต 400 คน อย่างที่ทุกคนทราบ ตามรัฐธรรมนูญ ม.84 การจะเปิดสภาได้ต้องมีส.ส.เกิน 95 % ของจำนวนส.ส.ทั้งหมดที่มีอยู่ในสภา ในกรณีนี้ต้องมีส.ส.475 คน จากทั้งหมด 500 คน
ความจริงถ้าเอาตามกฎหมายเราเพิ่งมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ตามกฎหมายกกต.มีระยะเวลาในการพิจารณาข้อมูลรับรองส.ส.ได้ถึง 60 วัน โดยต้องประกาศรับรองส.ส.ก่อนวันที่ 13 ก.ค.2566 อย่างที่ทราบทุกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไป ฝ่ายกองเชียร์ที่สนับสนุนพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มักจะออกมาเรียกร้องให้กกต.ประกาศรับรองผลส.ส.ให้ได้เร็วๆเพื่อให้พรรคที่ชอบคนที่เชียร์ได้เป็นนายกฯได้จัดตั้งรัฐบาลไวๆ เรื่องนี้ก็เป็นปกติทางการเมือง แต่ไม่เคยมียุคไหนสมัยใดที่จะมีการกดดันกกต.เร่งเร้าคณะกรรมการเลือกตั้งให้รีบร้อนประกาศรับรองส.ส.หนักหน่วงรุนแรงเหมือนยุคสมัยนี้ ก่อนหน้านี้ถ้ายังจำกันได้ “กลุ่ม 24 มิถุนายน” ภายใต้การนำของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยกขบวนไปที่กกต.มาครั้งนึงแล้วเพื่อยื่นข้อเรียกร้องหลักๆ 2 เรื่องให้กกต. ประการแรกคือข้อให้มีการรับรองส.ส.ให้ครบ 95 % หรือ 475 คนเพื่อให้มีการเปิดสภาเลือกนายกฯ ประการที่สองขอให้กกต.ปัดตกคำร้องทั้งหมดทุกเรื่องที่มีถึงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายกฯของฝ่ายส้มล้มเจ้า แถมขู่ว่าจะมาทวงคำตอบในวันที่ 20 มิ.ย. ถ้ากกต.ยังไม่ดำเนินการทำอะไรจะเจอม็อบใหญ่จากชาวบ้านแน่ๆ
เรียกว่าด้อมส้มเอาทุกทาง ปากก็บอกว่ารัก เคารพ บูชา ประชาธิปไตย พูดพร่ำพรรณาว่ายอมรับความคิดเห็นความไม่เหมือนกันของคนอื่น แต่การกระทำการแสดงออกตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ก็จัดทัวร์ลงส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับพิธาประกาศไม่โหวตคนล้มล้างสถาบันคนเดินหน้าแก้ม.112 มาตอนนี้ก็จัดคนมากดดันไล่บี้กกต.ให้รีบประกาศรับรองส.ส.หวังให้มีการโหวตนายกฯโดยเร็ว เพราะกลัวพิธาจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ จากสารพัดคดีที่คาอยู่เต็มหว่างขา ความจริงกฎหมายมันมีอยู่ไทม์ไลน์มันก็เขียนไว้ชัด หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ภายใน 60 วัน (ไม่เกินวันที่ 13 ก.ค.2566 ) กกต.ต้องประกาศรับรองส.ส.อย่างน้อย 95 % หรือ 475 คนจาก 500 คน ของจำนวนส.ส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นภายใน 15 วัน (ไม่เกินวันที่ 28 ก.ค.2566) ก็จะมีพระราชพิธีเปิดประชุมสภาเป็นครั้งแรก หลังมีพระราชพิธีเปิดประชุมสภาภายในระยะเวลา 10 วัน ( ไม่เกินวันที่ 7 ส.ค.2566 ) จะต้องมีการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมาทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ โดยหน้าที่สำคัญแรกของประธานสภาก็คือการนัดหมายประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯนั้นแหละ นับดูตามกระบวนการก็ถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เร็วหรือช้าเกินไป
ย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งคราวที่แล้วเมื่อ 24 มี.ค.2562 กว่ากกต.จะประกาศรับรองส.ส.ครบ 95 % คือ 333 คน จาก 350 คน ( เลือกตั้งคราวที่แล้วใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ส.ส.เขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน ) ก็ปาเข้าไปวันที่ 7 พ.ค.2562 ก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกฯในวันที่ 5 มิ.ย.2562 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับการสนับสนุนจากพลังประชารัฐ ชนะโหวต ธนาทอนจากอนาคตใหม่ ด้วยคะแนนโหวต 500 ต่อ 244 ดูจากเลือกตั้งคราวก่อนก็ใช้เวลากว่า 43 วันก่อนจะประกาศรับรองส.ส.ครบ 95 % และใช้เวลา 73 วันกว่าจะมีการโหวตนายกฯ หลังจบการเลือกตั้ง ถึงตอนนี้ก็ยังมีเวลาอีกบานเบอะ
ฝ่ายส้มใจเย็นๆ ด้อมส้มอย่าใจร้อน โชคชะตาฟ้าลิขิตไว้แล้ว ถ้าพิธาจะได้เป็นนายกฯก็ต้องได้เป็น แต่ถ้าคนมันจะไม่ได้เป็นให้เข็นให้ทำยังไงก็ไม่ได้เป็น ต่อให้ลากต่อให้ถูต่อให้กดดันยังไงก็ไลฟ์บอย จนปัญญาจะได้เป็นนายกฯ ถ้าบุญไม่มีวาสนาไม่ถึงจริงๆ ตัวอย่างก็มีให้เห็นมาเยอะแล้ว ประเด็นเรื่องพิธาไม่ต้องลุ้นกันให้เมื่อยว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่หรอก เพราะเดี๋ยวก็จะมีลุ้นโหวตนายกฯกันแล้ว ดูทรงแล้วยังไงพิธาก็ไม่น่ารอดสันดอนไม่ผ่านด่านอรหันต์ 376 จาก 750 คนได้หรอก เพื่อนก็ไม่มีพวกก็ไม่คบ เป็นคนเหนือฟ้าพรรคเทวดา ก็ไปหาเสียงส.ส.กับส.ว.ให้ได้แล้วกัน ถึงบอกว่าไม่ต้องไปรอคำวินิจฉัยของศาลหรอก พิธาตกม้าตายตั้งแต่วันโหวตนายกฯนั้นแหละ
แต่ประเด็นที่อาจจะใหญ่และอาจจะรุนแรงกว่า ที่ตอนนี้คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือกรณี 3 พรรคเล็กคือ พรรคพลัง พรรคเพื่อชาติไทย และ พรรคแรงงารสร้างชาติ ได้ยื่นฟ้องกกต.ต่อศาลปกครอง เพื่อให้ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ตกเป็นโมฆะ โดยอ้างว่าการนับคะแนนของกกต.ไม่เป็นธรรม ทำให้ทั้ง 3 พรรคเสียโอกาสที่จะได้ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง โดยมีการส่งหลักฐาน พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ ที่ยืนยันได้ว่าคะแนนหายไป และการคีย์คะแนนเพิ่มโดยผิดปกติ ทำให้จุดทศนิยมเปลี่ยนไป เป็นคุณแก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้หลักฐานทั้งหมดเป็นคดีปกครองอยู่ระหว่างรอไต่สวนคำร้องคุ้มครองชั่วคราวแล้ว นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมหลักฐานเตรียมยื่นฟ้องกกต.ทั้ง 6 คนรวมทั้่งเลขาฯกกต.กับศาลอาญาด้วยที่คาดว่าน่าจะยื่นฟ้องคดีอาญาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ที่หนักสำหรับเรื่องนี้ก็เป็นไปตามที่หมอระวี โพสต์ FB ทำนายผลไว้ว่า ” ถ้าศาลพิจารณาคำร้องว่ามีมูลและรับฟ้อง ศาลอาจจะพิพากษา ระงับการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่สามารถมีส.ส.บัญชีรายชื่อได้, เปิดประชุมสภาไม่ได้, ตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ รัฐบาลนายกประยุทธ์ ต้องรักษาการยาวเป็นปีๆ หรือถ้ากกต. ประกาศรับรองส.ส.ไปแล้ว ศาลอาจจะพิจารณาให้ ยกเลิก เพิกถอนการประกาศรับรองส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเช่นกัน ไม่ว่าออกทางไหนมีแต่ตายกับตาย การเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องหุ้นไอทีวีกับพิธา แต่มีปมร้อนอีกเยอะดักหน้าขวางทางขึ้นสู่อำนาจอีกมากมาย ฝ่ายไหนจะชนะพรรคใดจะเข้าวินก็ยังไม่รู้
/////////////////////