ล่าสุดเมื่อต้นเดือน มิ.ย. #น้องหยก วันที่ 18 มิ.ย. เพจเฟชบุ๊ก พรรคก้าวไกล โพสต์แนวทางแก้ปัญหา “หยก” ระบุว่า การเดินหน้าสู่ทางออก เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรณีคุณหยก ทางบุคลากรของพรรคนำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ปารมี ไวจงเจริญ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้พยายามพูดคุย และประสานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจข้อเท็จจริง และหาทางออก
ทางพรรคก้าวไกลมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นแค่เรื่องของหยกหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของ “หลักการ” ที่เราต้องกำหนดร่วมกันสำหรับเยาวชนทุกคนในทุกสถานการณ์ในอนาคต พรรคก้าวไกลต้องการหาทางออกโดยยึด 2 เป้าหมาย
เป้าหมายที่ 1 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองเป็นอย่างไร หนึ่งใน ‘ภารกิจหลัก’ ของระบบการศึกษา คือการตรึงไม่ให้เด็กหรือเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าจากปัญหาความไม่พร้อมทางด้านสัญชาติ ฐานะทางบ้าน ความพร้อมของครอบครัว ฯลฯ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและโรงเรียนควรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแก้ไขปัญหา ขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด หรือหากแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างน้อย ก็ควรผ่อนปรนแนวทางปฏิบัติบางประการที่เสี่ยงจะทำให้นักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาโดยไม่จำเป็น และยิ่งหากเจ้าตัวมีความประสงค์ที่อยากเรียน ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดๆ มาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งคือหลักการทั่วไปที่ควรจะเป็น
สำหรับกรณีหยก ที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้หยกไม่ได้รับการับรองเป็นนักเรียน คือข้อกังวลเรื่องกระบวนการมอบตัวที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง (มารดา) หรือบุคคลที่ผู้ปกครองมอบหมายอย่างเป็นทางการ มามอบตัวนักเรียนโดยตรงที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับหลักการเรื่องสิทธิในการศึกษาที่ยึดถือเป็นหลักใหญ่
แม้ในเชิงกฎหมาย นิยามของ “ผู้ปกครอง” ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อาจถูกตีความได้กว้างกว่าที่เป็นที่เข้าใจของโรงเรียนหรือสังคม ณ ปัจจุบัน เนื่องจากมาตรา 3 เขียนนิยาม “ผู้ปกครอง” ที่รวมถึง “บุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดูหรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
แต่ในความเป็นจริง เป็นที่ทราบว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกปล่อยปละละเลยโดยผู้ปกครอง และไม่สามารถติดต่อได้ บางกรณีพบว่าผู้ปกครองไม่มีความพร้อมที่จะสามารถทำหน้าที่ผู้ปกครองได้อย่างเต็มที่ตามที่โรงเรียนต้องการ (เช่น การจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา พานักเรียนเข้ามอบตัว การร่วมทำการบ้าน การร่วมกิจกรรมโรงเรียน การร่วมเข้ารับฟังปฐมนิเทศน์) ดังนั้นโดยหลักการ การติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ไม่ควรเป็นเหตุในการปิดกั้นให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม โดยปัจจุบันมีหลายโรงเรียนที่พยายามวางแนวทางในการรับเด็กและเยาวชนให้เข้าศึกษา แม้อาจไม่มีผู้ปกครองที่สะดวกมามอบตัวด้วยตนเอง
ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เราควรทำความเข้าใจเพื่อคลายข้อกังวลของทุกโรงเรียน รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่ขัดกับหลักการนี้ (หากยังมีอยู่) เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเรียนทุกคนในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองจะเป็นเช่นใด ซึ่งจะทำให้ในกรณีของหยก สถานภาพการเป็นนักเรียนของหยก ไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะการขาดผู้ปกครองโดยตรง (เช่น มารดา) มารายงานตัว
เป้าหมายที่ 2 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนปฏิบัติตามกติกาโรงเรียนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุยและออกแบบร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับบทบาทเชิงรุกในการดูแลว่ากฎระเบียบเหล่านั้นต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
แม้เราเชื่อว่าสังคมมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีกฎระเบียบไหนที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่สังคมปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างต่อกฎระเบียบปัจจุบันที่เป็นอยู่ (เช่น ทรงผม ชุดนักเรียน) – คนที่ไม่มองว่ากฎระเบียบเหล่านี้เป็นปัญหาหรือขัดหลักสิทธิมนุษยชนจึงคาดหวังให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งตั้งคำถาม (ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน) ถึงความเหมาะสมของการมีอยู่ของกฎระเบียบดังกล่าวที่ถูกมองว่าขัดหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น เพื่อทำให้การทำตามกฎระเบียบและการคุ้มครองสิทธินักเรียนไม่ขัดแย้งกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งเปิดบทสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อออกข้อกำหนดว่ามีกฎระเบียบด้านไหนบ้างที่ขัดกับหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน
กฎระเบียบใดๆ ก็ตามที่มีความเห็นร่วมกันว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงต้องออกข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อห้ามไม่ให้มีกฎระเบียบดังกล่าวในโรงเรียนใดก็ตาม โดยไม่ปล่อยให้เกิดการถกเถียงระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนกันเองเพียงลำพัง
ในขณะที่กฎระเบียบอื่นๆ ก็ควรถูกออกแบบโดยโรงเรียนผ่านกระบวนการที่เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมการดำเนินการทางวินัยสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎที่เหมาะสม ได้สัดส่วน ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนเอง (เช่น การลงโทษต่อร่างกาย การทุบตี การสั่งยืนกลางแดด) และทั้งหมดนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน