ใครคัน...ต้องมารู้จัก "ตัวโลน" ขนาดจิ๋ว 1-2 มม. แต่จัดว่าแสบ มาจากไหนกัน และถ้าสงสัยว่าติดเชื้อควรทำเช่นไร หายเองได้หรือไม่
ข่าวที่น่าสนใจ
หมอแล็บแพนด้า โพสต์ภาพประเด็นคำถาม “หนูมีเรื่องสอบถามค่ะ หนูเจอตัวแบบนี้ในร่างกายของเรา มันเรียกว่าตัวอะไรหรอคะ แล้วจะกำจัดมันยังไงคะ” ระบุ อันนี้คือตัว “โลน” นะครับ
ถ้าใครคันที่อวัยวะเพศ หรือคันมอยส์มาก ให้ลองก้มดูซิครับ ต๊ะเอ๋!!! เจอมั้ย โลนมันจะหน้าตาแบบนี้เลย ดีที่ยุคนี้กล้องมือถือซูมถ่ายภาพได้ชัดแจ๋ว โลนมันดูดเลือดเรากินเป็นอาหาร ซึ่งในน้ำลายของโลนเองมีสารบางอย่างที่ทำให้คันและระคายเคือง เราก็เลยคันมาก
โลนมันจะเล็ก ๆ ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขา 3 คู่ ที่ปลายขาจะคล้าย ๆ ขาปู ขาเคียวเหนี่ยวเก่ง เอาไว้เกี่ยวเส้นขน เพราะโลนจะชอบอาศัยอยู่ตามขนของร่างกาย แต่จุดที่พบโลนบ่อยที่สุดก็คือที่อวัยวะเพศนั่นเอง เพราะมีอุณหภูมิเหมาะสม โลนชอบ แต่บางทีมือของเราอาจจะไปเกาอวัยวะเพศ “ตัวโลน” มันก็เลยเกาะมือมาด้วย แล้วไปติดตามขนรักแร้ ขนหน้าอก หนวดเครา ขนคิ้ว ขนตาก็เจอบ่อย
โลนมีทั้งตัวผู้ตัวเมียครับ พอมันผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะวางไข่บนเส้นขน โลนตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง 7 วันต่อมา ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน และ 3 สัปดาห์ มันก็โตพร้อมที่จะผสมพันธุ์กันต่อไป
โลนติดต่อกันได้ 2 ทาง คือ
- ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะเวลามีเพศสัมพันธ์ โลนก็จะเกาะติดไปอีกคนนึงได้ง่าย ๆ ก็ดูขามันสิครับ พร้อมเกาะมาก
- ติดต่อจากการใช้ของใช้ร่วมกัน หากใครในบ้านเป็นโลน แล้วเราไม่รู้ จู่ ๆ ก็อยากใช้ผ้าเช็ดตัวของคนอื่น ใส่เสื้อผ้าคนอื่น นั่งบนโถส้วมที่มีตัวโลนเกาะอยู่ หรือนอนบนเตียงที่มีโลน มันก็สามารถติดต่อมาที่เราได้เช่นกัน
“ใครเจอตัวโลนหน้าตาแบบนี้ ลองไปปรึกษาเภสัชกรเรื่องยาฆ่าโลน หรือรีบไปหาหมอนะคร้าบ รักษาได้ อ่อออ แต่เวลารักษา ต้องรักษาคู่นอนของเราด้วยนะครับ ไม่งั้นเวลาโบ๊ะบ๊ะกัน โลนมันก็ติดกันได้อีกยังไงล่ะครับ”
สรุปติดโลนได้อย่างไร
- การติดเชื้อโลนไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก หรือการดูแลความสะอาดที่ไม่ดีพอ แต่เกิดจากการที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค โลนไม่สามารถกระโดดได้ แต่มันจะค่อย ๆ คืบคลานไปตามขนและพื้นผิว ดังนั้น จึงสามารถติดต่อกันได้โดยการนอนเตียงเดียวกัน หรือการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
อาการของการติดเชื้อ
- บางคนไม่มีอาการใด แต่ในระหว่างที่ไม่มีอาการนี้ เป็นช่วงที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากที่สุด เมื่อติดโลนมากว่าจะเริ่มมีอาการจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ อาการในผู้ชายและผู้หญิงจะคล้ายกัน คือ คันบริเวณที่เป็น บ่อยครั้งที่พบว่ามีรอยเการุนแรงจนเลือดออก หากมีโลนที่อวัยวะเพศ อาจมองเห็นอุจจาระของโลนเป็นจุดสีดำ ๆ ติดกางเกงใน และมองเห็นไข่โลนที่ขนตามร่างกาย โดยเห็นเป็นเม็ดสีน้ำตาล เมื่อมองใกล้ ๆ จะเห็นเป็นจุดสีแดง ซึ่งเป็นรอยที่โลนดูดเลือดเป็นอาหาร หากลองสังเกตให้ดีจะเห็นโลนเดินอยู่บนเตียงนอน มันมักจะหยุดอยู่นิ่งเมื่อเปิดไฟ และเริ่มเดินอีกครั้งเมื่อดับไฟ
เมื่อสงสัยว่าติดเชื้อ
- ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายบริเวณต่าง ๆ ตรวจภายในเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เนื่องจากพบร่วมกันได้บ่อย โดยทั่วไปการวินิจฉัยจะสามารถทำได้โดยการดูด้วยตาเปล่าหรือใช้แว่นขยาย
การรักษาการติดเชื้อ
- ใช้โลชั่นหรือแชมพูยาทาบริเวณที่เป็น แต่หากตรวจพบบริเวณขนตาหรือขนคิ้วจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยารักษาเป็นอันตรายต่อดวงตา ยาบางชนิดชะโลมทิ้งไว้เพียง 10 – 15 นาที แล้วล้างออก บางชนิดต้องทาทิ้งไว้นานกว่านั้น และทำซ้ำอีกครั้งที่ระยะ 3 – 7 วันต่อมา เนื่องจากยาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในไข่โลนได้ทั้งหมด ต้องรอให้ฟักตัวออกมาก่อน ซึ่งอาการจะดีขึ้น ภายใน 2 – 3 วันหลังเริ่มการรักษา แต่อาการคันอาจหลงเหลืออยู่ได้อีก 3 – 4 วัน
ข้อควรระวัง
- การโกนขนไม่ได้ช่วยทำให้การรักษาดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็ทำให้จำนวนไข่ที่จะฟักออกมามีจำนวนน้อยลง ควรเผาขนที่โกนออกไปหรือจัดเก็บอย่างระมัดระวัง เพราะโลนอาจคืบคลานไปติดผู้อื่นได้ และโลนไม่สามารถหายเองได้ ซึ่งหากได้รับการรักษาช้าจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นอย่างมาก
ข้อแนะนำ
- ควรที่จะเปลี่ยนชุดเครื่องนอนทั้งหมดและผ้าเช็ดตัว โดยซักที่อุณหภูมิอย่างน้อย 50 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าโลนและไข่ทั้งหมด และควรจะทำการรักษาผู้ป่วยและคู่นอนไปพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่คู่นอนอาจจะไม่มีอาการเลย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ทั้งนี้ หากกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
จะมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งได้เมื่อไหร่
- ควรงดโดยเด็ดขาดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ระหว่างการรักษาไปพร้อม ๆ กัน สามารถนอนร่วมเตียงเดียวกันได้ แต่ให้เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวทุกวัน
โลนหายเองได้หรือไม่
- โลนไม่สามารถหายเองได้ และถ้าได้รับการรักษาช้าจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง