"ผลิตภัณฑ์ชะลอวัย" สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชะลอวัยผู้สูงอายุจากแตงไทยสำเร็จ
ข่าวที่น่าสนใจ
โดยทางด้านเพจเฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล ได้ระบุข้อมูลว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (InnoHerb) สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจาก ‘แตงไทย’ เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุสำเร็จ
ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการวิจัย ‘การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เภสัชโภชนภัณฑ์เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุจากสารรงควัตถุในพืชสมุนไพรสู่ประเทศไทย 4.0’ เป็นไปตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ซึ่งจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2570
การวิจัยครั้งนี้ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังผู้สูงอายุจากแตงไทยได้ 2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คือ
- 1. สารสกัดหยาบเปลือกแตงไทยในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน
มีอนุภาคขนาดไมครอน ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชรา และป้องกันความเสียหายจากรังสี UVA ในเซลล์ผิวหนัง มีค่าการละลายน้ำและการปลดปล่อยของสารสำคัญได้เร็วกว่าสูตรผสมทางกายภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ และสามารถใช้เป็นสาระสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือเสริมอาหาร
- 2. เฟอร์รูลิกแอซิด พลัส ซีอี (Ferulic acid plus CE)
เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผงชงดื่มชนิดแรกที่พัฒนาจากสารสกัดแตงไทยในรูปแบบโซลิดดิสเพอร์ชัน มีสารสำคัญคือ กรดเฟอรูลิก ที่สกัดจากเปลือกแตงไทย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชรา และป้องกันความเสียหายจากรังสี UVA ในเซลล์ผิวหนัง ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาลทราย ง่ายต่อการรับประทาน และไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ
ทั้งนี้ แตงไทย เป็นหนึ่งในพืชตระกูลเมล่อน (Cucumis melo) ปลูกได้ง่ายทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีสารอาหารคล้ายกับเมล่อนทั่วไป อุดมด้วยวิตามินเอ ซี อี ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม โพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต จากการศึกษาพบว่าเปลือกมีสารสำคัญ คือ กรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) ซึ่งอยู่ในกลุ่มโพลีฟีนอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการใช้อย่างแพร่หลายในการผสมในเครื่องสำอางเพื่อชะลอวัย ลดริ้วรอย ทำให้ผิวกระจ่างใสขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีการใช้ในรูปสารสกัดจากแตงไทยค่อนข้างน้อย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้เบอร์โทร 02 577 9000, 02 577 9104
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล, TISTR : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง