และบริษัท ไอทีวี ก็ยังคงประกอบกิจการมาโดยตลอด เพียงแค่มีข้อพิพาทกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สปน.) ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ ดังนั้นความพยายามที่จะปลุกไอทีวีให้มาเป็นสื่อนั้น เพื่อเป็นสื่อสาธารณะเหมือนเดิม สอดคล้องกับที่พบผู้บริหารไอทีวี ก็ยืนยันมาโดยตลอดว่ายังไม่เลิกกิจการ ดังนั้นองค์ประกอบของการถือหุ้นสื่อ คนเป็นผู้นำต้องรู้ตัว ไม่มีข้อแก้ตัว พร้อมย้ำว่าการยื่นกกต.ให้ตรวจสอบคดีหุ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นสื่อที่โดนตัดสิทธิ์ทุกคน และดำเนินการกรณีนี้โดยเร็วที่สุดก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี
ด้านนายเสรี กล่าวว่า ในเอกสารที่ยื่นมา เป็นเรื่องของการถือหุ้นสื่อในวิชา ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจในกรรมาธิการที่กำลังตรวจสอบอยู่ จากนี้จะนำไปพิจารณาศึกษาต่อ ซึ่งจะมีการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนที่จะเดินทางไปหารือ กับนายอิทธิพร บุญประคองประธานกกต.และกกต.ในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. และหากเรื่องนี้เป็นไปตามที่ปรากฏในที่สาธารณะอยู่แล้ว กับอีกส่วนหนึ่งที่คณะกรรมาธิการตรวจพบ ก็จะนำหลักฐานทั้งหมดมอบให้กับประธานกกต. และจะมีการเร่งให้กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการโปรดเลือกนายกรัฐมนตรี
ส่วนเรื่องที่ดินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเสรีกล่าวว่าเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการจัดการทรัพย์มรดกจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีวิธีการจัดการในช่วงไหนอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าหุ้นได้มีการจัดการไปแล้วด้วยหรือไม่ ถ้าทรัพย์มรดกอื่นๆมีการจัดการแบ่งไปแล้ว ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมหุ้นสื่อถึงยังไม่จัดการ จุดนี้จะชี้ให้เห็นว่าวิธีการจัดการทรัพย์มรดกได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
นายเสรี ยืนยันว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะยึดมาตราฐานเดิมไม่ได้ เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือคุณสมบัติ ความเหมาะสมตามข้อเท็จจริง ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่า หากมีความพยายามแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่เหมือนกับปี 62 เพราะตอนนั้นไม่มีพรรคไหนมีพฤติกรรมที่จะแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้นจะอ้างมาตรฐานปี 62 มาใช้กับตอนนี้ไม่ได้ งั้นก็ไม่ได้เช่นกันหรือจะเรียกร้องให้เป็นเหมือนปี 62 ก็ทำไม่ได้ เพราะบริบทของแต่ละคนต่างกัน ความสำคัญของเรื่องต่างกัน และปัญหาของแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือในตอนนั้นไม่มีเหตุการณ์ที่ยุยงให้เด็กกระทำผิดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นความเหมาะสมที่สมาชิกวุฒิสภาจะนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกนายกฯ
ส่วนกรณีที่นายพิธา มั่นใจว่าจะมีเสียงส.ว.สนับสนุนมากพอให้เป็นนายกรัฐมนตรี นายเสรี ยิ้มพร้อมตอบว่า “ถ้ามากพอก็เป็นไปเลย” และอย่างที่ปรากฏอยู่ในข่าวว่ามี ส.ว.17 คน สนับสนุนนายพิธา แต่ก็มีหลายคนในจำนวนนี้ออกมาปฏิเสธ ว่าถูกนำชื่อไปใส่โดยไม่ได้ไปเสนอแนวทางอย่างนั้นเช่น นายตวง อันทะไชย , นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ , แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นต้น เพียงแต่ระบุว่าหากได้เสียงข้างมากก็จะโหวตให้ แต่ถ้าได้เสียงข้างมากแล้วยังคงแก้มาตรา 112 อยู่ก็จะไม่โหวตให้ เพราะฉะนั้นจะเอาแนวทางเสียงชนะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความเหมาะสมด้วย
” แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ได้มา 14 ล้านเสียง ไม่ใช่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ แต่มีข้อเรียกร้องว่าในเมื่อได้คะแนนมา 14 ล้านเสียง ทำไมไม่เลือกตามคะแนนเสียง ที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ไม่ทำตามเสียงประชาชน ชอบพูดกันบ่อย ต้องทำความเข้าใจว่าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50 ล้านเสียง มาใช้สิทธิ์ประมาณ 40 ล้านคน เลือกก้าวไกล 14 ล้าน แสดงว่า 14 ล้านเป็นเสียงข้างน้อย การที่เสียงข้างมากไม่เลือกนั่นคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ได้แสดงว่าเราไม่ได้ไปขัดแย้ง กับเสียง 14 ล้านแต่เราทำตามเสียงข้างมากกว่าด้วยซ้ำไป “นายเสรี กล่าว
นายเสรี ยังประเมินด้วยว่า ขณะนี้เสียงสนับสนุนจากส.ว.ไม่เพียงพอที่จะส่งนายพิธาให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูจากการแสดงออกที่ชัดเจนได้ไม่เกิน 5 เสียง เชื่อว่าหากส.ว. คนไหนที่สนับสนุนแล้วแสดงตัว ก็จะทำให้เกิดความชัดเจน ยืนยันว่าที่ทำแบบนี้เพราะได้รับใบสั่งจากประชาชน
ทั้งนี้ หากนายพิธาไปต่อไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยขึ้นมา ส.ว.จะสบายใจขึ้นหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่าไม่ใช่ความสบายใจแต่ต้องให้ส.ส.ไปตกลงกันให้สบายใจ รวบรวมเสียงให้ได้แล้วส.ว.จะพิจารณาบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามย้ำว่าหากเป็นแคนดิเดตนายกจากพรรคเพื่อไทย จะมีท่าทีดีขึ้นกว่านายพิธาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า “ก็ต้องดูว่าใคร ตอนนี้มีชื่อเดียวคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ถ้ามาเพื่อไทยก็ต้องดูว่ามี 3 ชื่อแล้วเสนอใคร ก็ต้องดูตัวตนด้วยว่าเป็นใคร ขณะเดียวกันตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นใคร ตอนนี้ยังรับรองใครไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย เช่นเดียวกัน หากเป็นชื่อของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย ทุกคน ต้องอยู่ในเกณฑ์เดียวกันจะยกเว้นใครไม่ได้
ขณะที่นายสมชาย กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ก็มีการรับเรื่อง และมอบให้ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ แต่เรื่องนี้ ได้มอบให้นายเสรีไปตรวจสอบแล้ว และมอบให้กรรมาธิการกิจการองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีปัญหาในหลายประเด็น ซึ่งการที่มายื่นร้องให้ส.ว.ยื่นตามมาตรา 82 คือ ส.ว. 1 ใน 5 โดยหลักเป็นเรื่องของส.ว.ด้วยกัน เว้นแต่ไปตีความว่าสว เป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภา ก็จะใช้ 1 ใน 10 ได้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะถึงขั้นนั้น ส่วนตัวเห็นว่า กกต.มีหน้าที่อยู่แล้วเรื่องนี้ไม่ยาก ซึ่งจะพิจารณาได้ว่านายพิธา ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งชัดอยู่แล้วไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ ก็ตรวจสอบจากวัตถุประสงค์และการประกอบกิจการของบริษัท และคดีความที่อยู่ในศาลปกครอง รวมถึงคำร้องที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 4 คดีมาประกอบ ซึ่งชัดเจนว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือหุ้นสื่อเพียงหุ้นเดียวก็ไม่ได้ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
นายสมชาย มองว่าหากกกต.ยึดมาตรฐานเดิมที่ใช้พิจารณา คดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็รับได้