วันที่ 4 ก.ค. 66 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก“Kamnoon Sidhisamarn” ระบุว่า ‘มาตรา 112 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม’
โดย ส.ว.คำนูณ ได้เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่อรรถาธิบายความเป็น “มาตรา 112” และเป็น 1 ใน 2 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ้างถึงในความเห็นทางกฎหมายเมื่อปี 2564 ที่ระบุว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 ของส.ส.พรรคก้าวไกลน่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6
สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นในยุคของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นคดีที่โด่งดังพอสมควรในยุคนั้น จำเลยในคดีอาญา 2 คดี 2 คน ต่อสู้โต้แย้งในชั้นพิจารณาคดีในศาลว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พวกเขาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตราด้วยกัน ศาลอาญาจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่โต้แย้ง เพราะ
-มาตรา 112 สอดคล้องและเสมือนเป็นกฎหมายลูกบทของรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 8 หรือมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
-พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสถาบันหลักและคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง มิให้ผู้ใดละเมิด
– การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
– มาตรา 112 จึงอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
– การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์จึงเป็นการคุ้มครองเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น
– ต้องบัญญัติโทษไว้พอสมควรแก่เหตุ
– มาตรา 112 เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 (ปัจจุบันอยู่ในมาตรา 34)
– มาตรา 112 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม