"มหาวิทยาลัยไทย" เปิด 13 รายชื่อมหาวิทยาลัยของไทย ติดโผมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2567 คัดเลือกจาก 104 ประเทศทั่วโลก
ข่าวที่น่าสนใจ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้ทราบว่า 13 มหาวิทยาลัยของไทยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2567 (QS World University Rankings 2024) จากรายงานการจัดอันดับของ Quacquarelli Symonds (QS) สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านการวิเคราะห์สถาบันอุดมศึกษา
โดยคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษากว่า 1,500 แห่ง จาก 104 ประเทศทั่วโลก มาวิเคราะห์และจัดอันดับตาม 9 เกณฑ์ที่กำหนด สะท้อนพัฒนาการทางการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศสู่ระดับสากล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รายงานการจัดอันดับดังกล่าวเป็นการรายงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2566 นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 20 โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนทั้งหมด 9 เกณฑ์ ได้แก่
- ความมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation)
- ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิต (Employer Reputation)
- สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio)
- การอ้างอิงผลงานทางวิชาการ (Citations per Faculty)
- สัดส่วนจำนวนอาจารย์ชาวต่างชาติ (International Faculty Ratio)
- สัดส่วนจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติ (International Student Ratio)
- เครือข่ายด้านการวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Network)
- ผลลัพธ์ด้านการจ้างงานบัณฑิต (Employment Outcomes)
- การสนับสนุนความยั่งยืน (Sustainability)
รวมทั้งวิเคราะห์เอกสาร งานวิจัยทางวิชาการ และรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากคณาจารย์และนายจ้าง
โดยมหาวิทยาลัยของไทยได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยศิลปากร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
‘นายกรัฐมนตรียินดีกับชื่อเสียง และพัฒนาการของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งเสริม และพัฒนาบุคลากร และผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษาไทยให้ครอบคลุมทุกมิติ สร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สอดรับกับความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งต้องเท่าทันกับบริบททั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อการสร้างบุคลากรในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป’ นายอนุชาฯ กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รัฐบาลไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง