เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาประชาคมบ้านโอว์ปังโกว์ หมู่ 6 ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จ่าเอกสมควร สิงห์คำ นายอำเภอภูสิงห์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการการเลี้ยงผึ้งโพรงและผลิตกล่องสำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรงมอบกล่องเลี้ยงผึ้งโพรงให้กับกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้น้อย ครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 50 ครัวเรือนในเขตตำบลไพรพัฒนา ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอภูสิงห์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายและสภาองค์กรชุมชนตำบลไพรพัฒนา ได้ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงผึ้งโพรง เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวตำบลไพรพัฒนา โดยนำประชาชนกลุ่มเป้าหมายมาร่วมกันเรียนรู้และปฏิบัติการผลิตกล่องเลี้ยงผึ้ง มีการสาธิตทักษะการเลี้ยงผึ้ง การดูแลผึ้ง หรือการสร้างบ้านให้ผึ้ง การเก็บน้ำผึ้งจากรังผึ้ง และการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดจำหน่ายในรูปแบบตลาดออนไลน์ หลังจากนั้นกลุ่มเป้าหมายที่มาเข้ารับการอบรมจะได้รับกล่องเลี้ยงผึ้ง คนละ 4 กล่อง ไปใช้ในการเลี้ยงผึ้งเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตนเองตนเองและครอบครัวต่อไป โดยมี นายประดิษฐ์ บุญอร อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 106 ม.5 ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านวนาสวรรค์ และ นายสรวิษฐ์ ละออใสย์ ผญบ.โอว์ปังโก เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการอบรมครั้งนี้ จากนั้น คณะวิทยากรที่เลี้ยงผึ้งโพรงประสบผลสำเร็จได้นำคณะนายอำเภอ ภูสิงห์ไปดูจุดที่ตั้งกล่องเพื่อเลี้ยงผึ้งโพรงอยู่ในภายในป่าใกล้กับชายแดนไทย – กัมพูชาด้าน อ.ภูสิงห์ โดยมี นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ นายสาธิต พันธมาศ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา นายสรรณ์ญา กระสังข์ พัฒนาการอำเภอภูสิงห์ ร.ต.สราวุธ พลธุวรรณ หน.ชุดกิจการพลเรือนที่ 219 และคณะหัวหน้าส่วนราชการของ อ.ภูสิงห์มาร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย
นายสรวิษฐ์ ละออใสย์ ผญบ.โอว์ปังโก กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการเห็นเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ไปล่าผึ้งป่า ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงทั้งในข้อกฎหมาย การปีนป่ายต้นไม้สูง และความเสี่ยงที่จะถูกผึ้งต่อย ซึ่งในขณะเดียวกัน เยาวชนกลุ่มนี้ก็มีการเลี้ยงผึ้งอยู่ด้วย เลยเล็งเห็นว่าการเลี้ยงผึ้งโพรงน่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจะสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเองและครอบครัว จึงได้หันมาทดลองเลี้ยงและประสานภาคีเครือข่ายมาให้ความรู้ หลังจากนั้นจึงเกิดการรวมกลุ่มเลี้ยงผึ้ง ก็ทำให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นอาชีพที่ยั่งยืน มีความยั่งยืนทั้งต่อชุมชนและระบบนิเวศต่อไป