คุณคำนูณตั้งคำถามว่า ทำไม่เรื่องนี้พรรคก้าวไกลจึง รุกได้ แต่ถอยไม่เป็นในกรณีมาตรา 112 ซึ่งคุณชัยธวัช ตุลาธน ได้ลุกขึ้นอภิปรายตอบคำถามนี้ความว่า
“ที่รุกได้ แต่ถอยไม่เป็นก็เพราะ พรรคก้าวไกลได้เห็นสถานการณ์ที่มีการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ส.ส.พรรคก้าวไกลจึงหารือกันว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรจะทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกโจมตีทางการเมือง หรือจะใช้ความกล้าหาญเพื่อเสนอหลักการ หลักคิดที่ถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมก่อนที่มันจะกลายเป็นระเบิดทางการเมืองในอนาคต ……. พรรคก้าวไกลมีสำนึกว่า ถ้าเมื่อใดเกิดปัญหาขึ้นมาในสังคมแล้ว ผู้แทนราษฎรทำเป็นมองไม่เห็น เราอธิบายตนเองไม่ได้ว่าเรายังมีมโนธรรมสำนึกในฐานะผู้แทนราษฎรอยู่ได้อย่างไร ……”
คุณชัยธวัชยังได้อภิปรายอีกช่วงหนึ่งว่า “สถาบันหลักของชาติหรือสถาบันการเมืองใด จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่มีสถาบันใดทีดำรงอยู่ได้เพราะ กด ปราบ บังคับ” นี่คือที่พรรคก้าวไกลอ้างว่าเป็นเหตุลในการ ผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และอ้างว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับคนรุ่นใหม่ดีขึ้น ทั้งยังกล่าวหาคนอื่นว่า นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นทางการเมือง ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ไม่ว่าใครจะไม่เห็นด้วยอย่างไร ไม่ว่าจะทำให้หัวหน้าพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรือพรรคก้าวไกลจะได้ร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่ยอมถอยอย่างเด็ดขาด นอกจากไม่ถอยแล้วยังกล่าวหาผู้ที่ไม่ยอมโหวตให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตีว่า อ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
ลองทำใจให้เป็นกลาง พิจารณาด้วยความเป็นธรรม แล้วถามตัวเองว่าเราเชื่อหรือไม่ว่า นี่คือเหตุผลที่พรรคก้าวไกลยังดึงดันที่จะแก้ไขมาตรา 112 ให้ได้
ลองไปฟังที่คุณจตุพร พรหมพันธุ์ เล่าไว้ถึง 2 ครั้งใน facebook ของคุณจตุพร ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ไม่มาก และทรงพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ขอทุกราย มีชาวต่างชาติที่ไม่ได้ขอก็ทรงพระราชทานให้ มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงไปไกลกว่านั้น คือไม่มีพระประสงค์จะให้บังคับใช้มาตรา 112 ผลก็คือหลังการครองราชย์ ไม่มีการดำเนินคดี ผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในขั้นการสอบสวน ก็ไม่มีการส่งฟ้อง ที่อยู่ในชั้นอัยการก็ไม่สั่งฟ้อง อยู่ชั้นศาลก็ยกฟ้อง ทุกราย
คงยังไม่ลืมว่า ความพยายามที่จะแก้ไขมาตรา 112 เริ่มขึ้นจากกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งมีอ.ปิยบุตร แสงกนกกุลเป็นสมาชิกกคนสำคัญ ตั้งแต่ปี 2554 แต่ฝ่ากระแสการคัดค้านไปไม่สำเร็จ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามที่จะยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่แก้ไข เริ่มมีขึ้นโดยแกนนำพรรคอนาคตใหม่ โดยมีอ.ปิยบุตร และคุณธนาธรเป็นหัวหอก แต่ก็ยังคงมีกระแสคัดค้านไม่น้อยไปกว่าเดิม
ในช่วงของพรรคอนาคตใหม่ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ใน social media จะมีการไพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรประชุมพิจารณา พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและอัตราบางส่วนของกองทัพบก ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 70 คนโหวตไม่อนุมัติ แต่เสียงไม่พอจะคว่ำ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวได้ นอกจากนี้ในการอภิปรายงบประมาณ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่อภิปรายมีความพยายามที่จะโจมตีและตัดงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพยายามตัดงบประมาณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบางโครงการ เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ เป็นต้น
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ก็เกิด flash mob บน sky walk สี่แยกปทุมวันเป็นครั้งแรก และก็เป็นครั้งแรกที่มีการจงใจแบบเนียนๆที่จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
จากนั้นมาในม็อบ 3 นิ้วแต่ละครั้งก็จะมีการจาบจ้วง และกระทำการที่หยาบช้าต่อสถาบันพระมหากษัตรย์มากบ้างน้อยบ้างเรื่อยๆ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 มีการจัดการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการพยายามล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังจากวันนั้น ม็อบมีมากขึ้นเรื่อยๆ การจาบจ้วงมีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกรูปแบบ ความรุนแรงมีมากขึ้น การสาดสี การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ สำนักข่าวออนไลน์บางสำนักก็เปิดโอกาสให้มีการวิพากวิจารณ์ในทางเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น เช่น การใช้โอกาสวันคล้ายวันสวรรคครัชกาลที่ 8โพสต์ลงเรื่องราว เพื่อให้สาวกแสดงความเห็นที่จาบจ้วง หยาบช้า เข้ามาอย่างมากมาย
นี่เป็นเหตุผลที่มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อบุคคลต่างๆจนถึงวันนี้รวมกันถึง 253 คนรวม 272 คดี บทบาทของส.ส.พรรคก้าวไกลคือการไปช่วยประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดี ไม่มีเลยสักคนและสักครั้งที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลจะออกมาช่วยปรามผู้ที่ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับโจมตีว่า เป็นการใช้มาตรา 112 เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่เมื่อมีคนขอให้ระบุมาเป็นรายๆว่า ทำอะไร ทำผิดหรือไม่จึงถูกดำเนินคดี กลับไม่มีส.ส.คนไหน สามารถระบุได้ จึงน่าอนุมานได้ว่าม็อบเหล่านี้กับพรรคก้าวไกลมีความเชื่อมโยงกัน เป็นพวกเดียวกัน
เป็นที่แน่ชัดว่า แกนนำพรรคก้าวไกล รวมทั้งผู้นำตัวจริง และส.ส.ส่วนใหญ่มีทัศนคติอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่านั้นไม่พอ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยังไปเลือกเอาผู้ที่ทำผิดตามมาตรา 112 อย่างชัดแจ้ง และกำลังถูกดำเนินคดึ มาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายคน คุณพิธาเองกล่าวบนเวทีหาเสียงว่า ความจริงต้องการจะยกเลิกมาตรา 112 แต่ขอแก้ไขก่อน เพราะการแก้ไขมีความเป็นไปได้มากกว่า หากแก้ไขไม่สำเร็จก็จะมาร่วมรณรงค์ให้ยกเลิกกับม็อบต่อไป คุณพิธาอภิปรายในสภาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง มีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม คุณพิธากล่าวด้วยว่า จะจัดวางพระราชสถานะ และพระราชอำนาจให้เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงจะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทย
ใครกันแน่ที่ทำให้เกิดความแตกแยก เกลียดชังกันในสังคม เฉพาะเรื่อง ส.ว.ไม่โหวตให้คุณพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีก็ทำให้ครอบครัวแตกกันไปเป็นเสี่ยงๆไม่ทราบว่ากี่ครอบครัว ความสัมพันธ์ของญาติพี่น้องต้องถูกทำลายลงมากแค่ไหน ไม่อยากมองหน้า ไม่อยากเกี่ยวข้องกันไม่ทราบว่ากี่คน เฉพาะกรณี หยก ก็ทำให้เกิดความแตกแยก ปั่นป่วนกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ดูจากพฤติกรรมของแกนนำและส.ส.แต่ละคนของพรรคก้าวไกล ยังไม่ต้องพูดถึงผู้ช่วยหาเสียงอีก 3 คน ยากที่จะเชื่อได้ว่าที่พรรคก้าวไกลดึงดันที่จะแก้มาตรา 112 ให้ได้ ก็เพราะความหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีอะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่ การจัดวางพระราชสถานะ และพระราชอำนาจใหม่ ก็คงไม่พ้นการปฏิรูป 10 ข้อ ที่ประกาศในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” นั่นเอง