เมื่อ 19 ก.ค. 2566 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “จบยก 1” ระบุว่า เมื่อถึงคิวพรรคเพื่อไทยโหวตนายกฯ ในยกที่สอง นายเศรษฐา ทวีสิน คาดถูกเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนแรก หากยังมีจุดยืนจับมือกับพรรคก้าวไกลเหนียวแน่น ไม่ทอดทิ้งกัน ผลลัพธ์ออกมาย่อมไม่ผ่านเสียง 376 เช่นกัน เพราะพรรคฝ่าย 188 เสียงกับ ส.ว.จะไม่สนับสนุน
นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลนั้น ถือว่าเส้นทางสู่นายกฯ จบลงบริบูรณ์แล้ว แต่เขาลุกยืนขึ้นประกาศถอนตัวกลางห้องประชุมรัฐสภาอย่างสง่างาม ดังนั้น การโหวตนายกฯ ครั้งใหม่ฝ่าย 8 พรรค 312 เสียงจึงเลือกเสียงสนับสนุนเพียง 310 เสียงเท่านั้น เพราะนายพิธา ถูกศาล รธน. สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ 19 ก.ค.จนกว่าการวินิจฉัยกรณีถือหุ้นไอทีวีเสร็จสิ้น ขณะที่นายมูหะหมัดนอร์ มะทา ต้องรักษามารยาทเป็นประธานรัฐสภา ต้องงดออกเสียง
อย่างไรก็ตาม นายวันนอร์มะทา นัดประชุมโหวตนายกฯ ครั้งใหม่ในวันที่ 27 ก.ค. นี้ สิ่งสำคัญ เมื่อฝ่าย 8 พรรคเหลือเสียง 310 เสียง ประกอบกับกติกาตาม รธน.บทเฉพาะกาล ม. 272 เป็นอุปสรรค จึงไม่มีทางอื่นใด นอกจากการข้ามขั้วไปจับมือกับฝ่าย 188 เสียง หรือหาเสียงจาก ส.ว.มาเพิ่มอีก 66 เสียง เพื่อหนุนให้นายเศรษฐา โหวตผ่านจำนวน 376 เสียง ได้เป็นนายกฯ แต่ความน่าจะเป็นยังยากลำบากอยู่ดี
อีกทั้ง เห็นว่า อุปสรรคเพื่อไทย คือพรรคฝ่าย 188 เสียงและ ส.ว.มีเงื่อนไขไม่เอาพรรคก้าวไกล ปัญหาจึงอยู่ว่า ถ้านายเศรษฐา อยากได้เสียงโหวตแล้ว จะต้องทิ้งเพื่อนหรือเปล่า? ถ้าเลือกทิ้งเพื่อนไปเป็นผู้ปกครองประเทศ ย่อมเป็นพฤติกรรมที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
“ถ้านายเศรษฐา มีจุดยืนลักษณะเดียวกับพรรคก้าวไกล (คือ มีลุง ไม่มีเรา หรือไม่ข้ามขั้วจับมือกับพรรคสืบทอดอำนาจรัฐประหาร) แล้ว ต้องกล้าแพ้ร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อน เพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ แต่หากเลือกเอาชนะย่อมไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ ซึ่งจะมีประโยชน์อะไร เพราะการข้ามขั้วเป็นหนทางการเอาตัวรอดขั้นพื้นฐานแบบไม่ฉลาดของมนุษย์”
นายจตุพร เสนอว่า ตำแหน่งนายกฯ ต้องมีเกียรติ เมื่อเพื่อไทยตกลงร่วมทางเดินกับ 8 พรรคและมีจุดยืนไม่จับมือกับฝ่ายยึดอำนาจ โดยเฉพาะพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ คงต้องยึดเป็นสัจจะวาจาให้มั่นคงไว้
รวมทั้ง หากเลี่ยงไปดึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาร่วมคงยากอีก เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของนายชวน หลีกภัย ผู้นำจิตวิญญาณของ ปชป. ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้อยู่ที่ความเป็น “ศิลปอาชา” เห็นชอบอย่างเดียว แต่มีเงาอยู่ข้างหลังจะตัดสินใจมาร่วมกันหรือไม่ด้วย หรือทุ่มเทหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การโหวตนายกฯ ยกสองจึงไม่ได้ง่ายกับเพื่อไทยเลย ยิ่งทุกกลไกรัฐและพรรคการเมืองอีกฝ่าย ล้วนต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” มาอย่างเข้มข้น เพียงแต่ยกแรกต้องทำลายก้าวไกลก่อนเนื่องจากแหกโค้งชนะเลือกตั้งมาเป็นที่หนึ่ง เมื่อทำสำเร็จแล้ว จึงมาถึงขจัดเพื่อไทย ซึ่งเป็นเงื่อนไขการต่อสู้หลักของฝ่ายตรงข้าม
นายจตุพร ประเมินว่า หากนายเศรษฐา ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกฯ แล้ว เมื่อถึงคิวเสนออุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวทักษิณ ชินวัตร จะเป็นเรื่องใหญ่อย่างน่าหวั่นวิตกกังวลสูงถึงขั้นระบอบทักษิณต้องถึงคราวฉิบหายกันไปเลย