“รศ.หริรักษ์” กางข้อกม.โต้นักวิชาการสายส้ม ยันข้อบังคับรัฐสภาไม่ขัดรธน. ฟันธง 4 สิงหา โหวตนายกฯแน่ แต่ไม่ใช่ชื่อ “พิธา”

"รศ.หริรักษ์" กางข้อกม.โต้นักวิชาการสายส้ม ยันข้อบังคับรัฐสภาไม่ขัดรธน. ฟันธง 4 สิงหา โหวตนายกฯแน่ แต่ไม่ใช่ชื่อ "พิธา"

 

 

30 กรกฎาคม 2566 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า อาจารย์นิติศาสตร์ 115 คนจากทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่รัฐสภามีมติว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ทำให้ไม่อาจเสนอชื่อนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 ได้ ตามข้อบังคับรัฐสภาข้อ 41 เป็นการทำให้มติรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ อันจะทำให้การสอนลำดับชั้นของกฎหมายยากที่จะทำได้ ก่อนหน้าแถลงการณ์ดังกล่าวก็มีนักกฎหมายชั้นนำของประเทศ 2 ท่านออกมาแสดงความเห็นแบบเดียวกัน ดังนั้น เพื่อความกระจ่างเราลองนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องนำมาพิจารณา โดยเริ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญก่อน

 

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 159 บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

รัฐธรรมนูญมาตรา 272 บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นขอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ข่าวที่น่าสนใจ

 

จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 159 และมาตรา 272 เพียงระบุว่า ให้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่น ๆ แต่อย่างใด

 

แน่นอนว่าข้อบังคับรัฐสภาไม่อาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ประเด็นนี้ไม่ต้องถกเถียงกัน และผู้ที่สอนกฎหมายก็ไม่เห็นจะมีความยากลำบากในการสอนลำดับชั้นของกฎหมายตรงไหน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 128 และมาตรา 157 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไปจัดทำข้อบังคับการรประชุมของแต่ละสภาเพื่อใช้ดำเนินกาารประชุม และให้จัดทำข้อบังคับการประชุมเป็นการเฉพาะเพื่อใช้สำหรับการประชุมรัฐสภา ซึ่งหมายถึงการประชุมร่วมกันของ 2 สภา

ด้วยเหตุนี้ ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาจึงมาจากรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการกำหนดขึ้นเอง ซึ่งเท่ากับว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 128 และมาตรา 157 อนุญาตให้รัฐสภาสามารถออกข้อบังคับเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการประชุมได้เอง เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพียงระบุว่า การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีรายละเอียดอื่นใด ดังนั้นรายละเอียดในการดำเนินกาารประชุมจึงควรเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา

ข้อบังคับรัฐสภาข้อ 36 ระบุว่า “ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ผู้รับรองญัตติให้การรับรองโดยวธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ เว้นแต่การรับรองการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อ 136″ และข้อบังคับรัฐสภาข้อ 41 ระบุว่า ” ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุม เดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”

 

คำถามคือข้อบังคับทั้ง 2 ข้ออยู่เหนือรัฐธรรมนูญตรงไหน

ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 กรกฎาคม แม้ว่าจะมีผู้เสนอว่าการเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องถือเป็นญัตติ ดังนั้นต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 41 แต่แทนที่จะลงมติว่าการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นญัตติหรือไม่โดยดูที่ข้อบังคับข้อ 36 แต่กลับไปให้ลงมติว่า การเสนอชื่อนายพิธาให้ารัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ 41 หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อบังคับข้อ 36 ก็จะเห็นว่าการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติอย่างแน่นอน ดังนั้นไม่สามารถเสนออีกครั้งได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานผู้ตราวจการแผ่นดินถึง 17 ราย เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับวินิจฉัย เนื่องจากพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (8)ระบุว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เท่านั้น

 

 

 

 

ดังนั้นจึงน่าจะฟันธงได้เลยว่า ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 4 สิงหาคม จะมีญัตติการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ค่อนข้างแน่

เราลองมองอีกมุม ลองพิจารณว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคืออะไร มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ หากพรรคการเมืองพากันเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐธรรมนูญ พรรคละ 3 ชื่อ และเมื่อพรรคที่ได้ส.ส.มาเป็นอันดับที่ 1 เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เมื่อไม่ผ่านก็เสนอเข้ามาอีก และเสนอเข้ามาอีก จนกว่าจะเห็นว่าไม่มีโอกาสแล้ว จึงเสนอชื่อที่ 2 และชื่อที่ 3 ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน เช่นนี้จะต้องใช้เวลานานเท่าใด จะเป็นไปได้หรือว่า นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่าจะพิจารณาในมุมใด คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ไม่มีทางได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอย่างแน่นอน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผบ.ทร.ลงพื้นที่ "นครพนม" ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย
"พิพัฒน์" ยันค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ประกาศขึ้น 1 ต.ค.นี้ ชี้เตรียมมาตรการช่วยทั้ง "นายจ้าง-ลูกจ้าง" ไว้พร้อมแล้ว
"เทศบาลตำบลกะรน" ภูเก็ต เร่งอพยพชาวบ้าน หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง หวั่นดินสไลด์ซ้ำ
สุดยิ่งใหญ่! งานฉลอง “เทศกาลคเณศจตุรถี 2567” ลอยองค์พระพิฆเนศกลางอ่าวพัทยา ส่งองค์มหาเทพกลับสู่วิมานเบื้องบน ตามความเชื่อของชาวฮินดู
ชาวบ้านหนองปลาไหลโวยโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียลงคลองส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกลิ่นนานนับปี นายกสั่งเร่งแก้ไขทันที
สพฐ.สั่งเด้ง "ผอ.สพม.สระแก้ว" ปมครูสาวสอบติดอันดับ 1 แต่ชื่อล่องหน
"นายกฯ" ให้คำมั่น เดินหน้ามาตรการเยียวยาน้ำท่วม ลดขั้นตอนยุ่งยาก เน้นทำรวดเร็ว ช่วยชาวบ้านทุกมิติ ให้กลับสู่สภาวะปกติ
3 ชนเผ่าพื้นเมือง เขมร กูย ลาว ร่วมกันประกอบพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ แบบโบราณ และทำข้าวต้มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สื่อจีนเตรียมถ่ายทอดงานฉลองวันไหว้พระจันทร์ทั่วโลก
ชุดปฏิบัติการ USAR กองทัพเรือ เร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด บรรเทาความเดือดร้อนชาวเชียงราย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น