ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ สำหรับองค์กรรัฐวิสาหกิจดีเด่น อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จากกรณี บริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE. บริษัทลูกของ ปตท. ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด ให้ไปลงทุนปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับพบความไม่ชอบมาพากล ในหลายกรณี ทั้ง
1.ข้อกล่าวหาการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ กว่าหนึ่งพันล้านบาท
2. การลงทุนซื้อที่ดินที่เกิดขึ้น กลายเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ โดยทางการอินโดนีเซีย ไม่สามารถออกเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรมได้ ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
และ 3.การกล่าวหาว่าการจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว มีการจ่ายค่านายหน้าสูงกว่าผิดปกติถึง 40%
สรุป รวมค่าเสียหายจากการลงทุนโครงการปลูกสวนปาล์มอินโดฯ ทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท
จุดสำคัญคือ กรณีดังกล่าว มีการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องผ่านปปช. แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง และ ผู้รับผิดชอบในฐานะผู้บริหาร รวมถึง บอร์ดบริหาร ในฐานะผู้ดำเนินโครงการในแต่ละยุคสมัย ยิ่งเกิดข้อคำถามมากมายถึงความเอาจริงเอาจัง กับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น กับ สูญเสียเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน
ทั้ง ๆ ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรธุรกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ บรรษัทภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี 5 ข้อสำคัญ ประกอบด้วย
1.ความซื่อสัตย์ (Integrity) คือ การบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตน่าเชื่อถือ และยึดมั่นในความถูกต้อง
2.ความยุติธรรม (Fairness) คือ การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม
3.ความโปร่งใส (Transparency) คือ การดำเนินงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้
4.ความรับผิดชอบ (Responsibility) คือ การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มกำลัง มุ่งมั่นให้งานสำเร็จและพัฒนางานให้ดีขึ้น
5.ภาระรับผิดชอบ (Accountability) คือ ความรับผิดและรับชอบในผลของการกระทำที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการกระทำ การสั่งการ การมอบหมาย และการตัดสินใจ ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยสามารถชี้แจงและอธิบายการตัดสินใจนั้นได้
ในทางกลับกันที่ผ่านมา บมจ.ปตท. ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจต้นแบบเรื่องธรรมาภิบาล กลับถูกนักการเมือง กลุ่มการเมือง ทุกยุคสมัย พยายามหาช่องทางเข้าไปในประโยชน์จากเม็ดเงินผลกำไรมูลค่ามหาศาล ดังจะเห็นได้จากภาพความเป็นรูปธรรมทางการเมือง เมื่อกลุุ่ม หรือ พรรคการเมืองใด เป็นแกนนำรัฐบาล ก็จะส่งบุคคลของตนเอง เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ทำหน้าที่โดยตรงในการกำกับ บมจ. ปตท.
ทั้งนี้ แม้กระทรวงพลังงาน จะมีหน่วยงานในสังกัดไม่มาก แต่มีความหมายสำหรับประเทศ เพราะมีหน้าที่หลักในการจัดหา พัฒนาและบริหารกิจการพลังงาน ดูแลจัดการเกี่ยวกับพลังงานของประเทศสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ความยิ่งใหญ่ของกระทรวงพลังงานที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อย อยากเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี นอกจากเป้าหมายในกระทรวงแล้ว ที่สำคัญยังเป็นกระทรวงที่ มีความเกี่ยวโยงไปยังภาคเอกชนด้านพลังงานของประเทศนั่นเอง
โดยหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย
– สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
– กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
– กรมธุรกิจพลังงาน
– กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
– สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
– สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
– สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
รวมถึง 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชน ในกำกับดูแล ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
14 รมว.พลังงาน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง “กระทรวงพลังงาน” ประกอบด้วย
1. 3 ตุลาคม 2545 – 8 กุมภาพันธ์ 2546 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
2. 8 กุมภาพันธ์ 2546 – 6 มกราคม 2548 นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
3. 11 มีนาคม 2548 – 19 กันยายน 2549 นายวิเศษ จูภิบาล รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
4. 9 ตุลาคม 2549 – 6 กุมภาพันธ์ 2551 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
5. 6 กุมภาพันธ์ 2551- 9 กันยายน 2551 พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
6. – 9 กันยายน 2551 – 2 ธันวาคม 2551 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
– 20 ธันวาคม 2551 – 9 สิงหาคม 2554 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
7. 9 สิงหาคม 2554 – 18 มกราคม 2555 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
8. 18 มกราคม 2555 – 28 ตุลาคม 2555 นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
9. 28 ตุลาคม 2555 – 22 พฤษภาคม 2557 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
10. 30 สิงหาคม 2557 – 19 สิงหาคม 2558 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐบาลคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
11. 19 สิงหาคม 2558 – 23 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
12. 23 พฤศจิกายน 2560 – 10 กรกฎาคม 2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
13. 10 กรกฎาคม 2562 – 15 กรกฎาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
14. เริ่มวาระ 5 สิงหาคม 2563 – จนถึงปัจจุบัน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี