ภายหลังจากวันที่ 2 ส.ค. 66 ที่ พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ ผลการหารือร่วมกับพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคการเมือง โดยมีใจความว่าเริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้จับมือร่วมกับ พรรคการเมือง อีก 6 พรรค รวมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฎเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้
ดังนั้นที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทย หาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี
ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน ” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี