กลับมาสะดุดอีกครั้งสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล และการโหวตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้ว่ากันว่าหนทางราบรื่นหลังประกาศสลายขั้วการเมืองตั้ง “รัฐบาลพิเศษ” ซึ่งการสะดุดหกล้มดังกล่าวเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยที่ออกมาระบุว่า จะไม่ให้พรรคการเมืองเดิมบริหารกระทรวงเดิมโดยมองว่าเป็นหลักการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหลังจากคำพูดนี้ออกไปสู่สาธารณะ ทำให้เกิดแรงต้านจากพรรคการเมืองที่กำลังเข้าร่วมรัฐบาลออกมากอย่างรุนแรงถึงขนาดจี้ให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวนายเศรษฐา
อาการปากไวดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาอย่างรุนแรง เพราะในแง่ของยุทธศาสตร์การเมืองนายเศรษฐาไม่ควรพูดอะไรที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่ให้นู้นไม่เอานี่ เพราะคำพูดดังกล่าวอาจส่งผลร้ายหากอำนาจการต่อรองอยู่ในมือของคนอื่น โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และพรรคสองลุงที่เพื่อไทยจะขาดไม่ได้หากคิดจะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ดังนั้นนายเศรษฐาในฐานะบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำของประเทศควรวางตัวให้เหมาะสม และไม่ควรใช้วาจาที่ใจเร็วลุแก่อำนาจที่อาจส่งผลทำให้เกิดรอยร้าวในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล
จากคำพูดดังกล่าวส่งผลให้พรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทยเกิดความลังเลที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีให้นายเศรษฐาถึงขนาดมีรายงานข่าวออกมาว่า กลุ่มพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยื่นข้อเสนอผ่านคณะผู้แทนเจรจาจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องแบ่งกระทรวงให้เป็นที่ยุติชัดเจนก่อนการโหวตนายกฯ และต้องไม่มีเงื่อนไขห้ามนั่งในกระทรวงเดิม แต่ให้พิจารณากระทรวงเดิมเป็นอันดับแรกเพื่อทำงานได้ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งรัดนโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นอันดับแรก และหากพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายเศรษฐาไม่รับเงื่อนไข กลุ่มพรรคร่วมอยากให้เปลี่ยนตัวเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นนายกฯแทน
ขวากหนามที่นายเศรษฐาพลั้งปากพูดแสดงให้เห็นว่า การทำงานระหว่างพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐาไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การออกสัมภาษณ์หลายครั้งของพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐาไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน อาทิ การพูดจะแก้ไขมาตรา 112 ของนายเศรษฐาในลักษณะสวนทางกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ไม่เคยมีธงในการแก้ไขมาตรา 112 มาตั้งแต่หาเสียง
ความไม่เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างนายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยยังทำให้เห็นอีกมุมมองนึงว่า การลุกฮือของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลที่ยื่นเงื่อนไขให้เปลี่ยนตัวนายเศรษฐาเป็น น.ส.แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา นายเศรษฐาไม่ใช่คนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากขาดความเข้าใจเรื่องการจัดสรรโควต้าของพรรคการเมืองที่ต้องให้แต่ละฝ่ายสมประโยชน์อย่างลงตัว โดยเฉพาะเงื่อนไขของพรรคร่วมที่ส่งตรงถึงเพื่อไทยว่า ต้องไม่มีเงื่อนไขห้ามนั่งในกระทรวงเดิม