ความวัวเรื่องโพสต์กระป๋องเบียร์คราฟต์ยังไม่ทันหาย แต่วันนี้ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานประธานสภาคนที่ 1 นำความควายเข้าแทรกกรณี ดราม่าร้อนใช้งบประมาณจัดเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภา 370 คนในราคาหัวละ 269 บาท ที่ร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งย่านบางโพเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยแม่บ้านทุกคนได้รับคูปอง เขียนว่า Gift Voucher มีชื่อของ นายปดิพัทธ์ พิมพ์กำกับไว้ในคูปอง เพื่อนำมาแสดงก่อนเข้าร้าน
ประเด็นดราม่าดังกล่าว สังคมกำลังตั้งคำถามว่า การกระทำของหมออ๋องเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้หมออ๋องออกมาชี้แจงว่า เงินที่ใช้เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านเป็นงบของรองประธานสภาคนที่ 1 ซึ่งในหนึ่งปี คาดว่ามีงบ 2 ล้านบาท จึงนำงบฯดังกล่าวมาเลี้ยงหมูกระทะเพื่อพูดคุยกัน โดยแทนที่จะนั่งประชุมพูดคุยกันเครียดๆก็เปลี่ยนมานั่งกินหมูกระทะดีกว่า
สิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับตัว “หมออ๋อง” อาจมองว่าเป็นเรื่องยิบย่อยหยุมหยิม เพราะเงินเลี้ยงหมูกระทะเป็นงบฯของรองประธานสภาฯที่สามารถใช้สอยได้ แต่หมออ๋องอาจหลงลืมไปว่า งบฯหมูกระทะคือ “เงินหลวง” ที่มาจากภาษีประชาชน ดังนั้นการใช้จ่ายต้องเป็นไปข้อบังคับที่กำหนดไว้ว่าอะไรทำได้ อะไรห้ามกระทำ
ยิ่งไปกว่านั้น “หมออ๋อง” อาจไขสือเผลอลืมไปว่า หนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกลกำหนดชัดเจนว่า “ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเอง โดยงบประชาสัมพันธ์รัฐที่มาจากภาษีประชาชนมีไว้เพื่อสนับสนุนส่วนรวมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อโปรโมทตัวเอง”
ปมร้อนเลี้ยงหมูกระทะเปรียบเสมือนก้อนหินที่ปาใส่หมออ่อง และพรรคก้าวไกลแบบไม่ยั้งมือ โดยทุกฝ่ายต่างตำหนิพฤติกรรมของรองประธานสภาคนที่ 1 อย่างไม่ไว้หน้า
“มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มองว่า เรื่องนี้สภาฯ ต้องชี้แจงว่า มีระเบียบในการใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้อย่างไร เพราะโดยปกติ งบฯ ส่วนนี้ ใช้เพื่อรับรองบุคคลภายนอก แต่กรณีนี้มองว่า เป็นภายในองค์กร แม้จะเป็น sub contract หรือเอกชนที่มารับช่วงสัญญาก็ฟังไม่ขึ้น ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.อาจเข้าข่ายประโยชน์อื่นใด หรือ การขัดกันแห่งผลประโยชน์
ขณะที่ “พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เคยมีการเบิกจ่ายงบฯ รับรอง มารับรองคนที่เป็นคูสัญญากับหน่วยงาน เพราะตามแบบแผนราชการ งบฯ รับรอง คือการใช้รับรองผู้มาเยือนและทำประโยชน์ของหน่วยงานนั้น ๆ แต่ไม่เคยใช้รับรองคนที่มารับจ้างงานของหน่วยงานนั้น ๆ โดยข้อสงสัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นข้อคิดที่ดีที่จะนำไปสู่การตรวจสอบ และย้อนหลังไปเท่าที่ทำได้
เช่นเดียวกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกกต. โพสต์เฟซบุ๊กว่า งบรับรองมีวัตถุประสงค์การใช้ชัดเจน ต้องเป็นเพื่องานราชการ ไม่สามารถใช้ตามใจชอบได้ หากใช้ไปแล้วก็ยังไม่จบ สตง. สามารถเข้ามาตรวจสอบได้เพราะเป็นเงินหลวง ส่วนการแก้ไข ไม่ยาก แค่เอาเงินส่วนตัวมาจ่ายคืน ไม่ถือเป็นความผิด