ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงานวิจัยแอนติบอดีและวัคซีนป้องกันโควิด19 ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 29 ว่า จากผลศึกษาในงานวิจัยแอนติบอดีต่อการตรวจหาเชื้อโควิด19 นั้นไม่สามารถในการตรวจหาเชื้อให้เจอในทันที แต่หลังจากติดเชื้อไปแล้ว 2-3 สัปดาห์จะสามารถตรวจหาเชื้อในแอนติบอดีได้ และคนที่ติดเชื้อรุนแรงจะทำให้มีแอนติบอดีสูงกว่าคนที่ติดเชื้อไม่รุนแรง ดังนั้นโควิด19 จึงเป็นโรคที่สามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้ ส่วนการศึกษาความปลอดภัยและภูมิต้านของวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนกา ที่นำมาปรับเป็นสูตรไขว้ โดยผลการติดตามในคนไข้ที่ฉีดสลับวัคซีน 70-80 คน พบว่าค่าไตเตอร์หรือภูมิคุ้มกันสูงเท่ากับฉีดแอสตร้าเซเนกา 2 เข็ม และขณะเดียวกันแอนติบอดี้ก็เพิ่มขึ้นหลังฉีดห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ ต่างจากแอสตร้าเซเนกาที่ต้องฉีดห่างจากเข็มแรกกัน 8-10 สัปดาห์ แต่ย้ำว่าการฉีดสลับต้องเริ่มต้นด้วยเชื้อตายถึงจะดี หากฉีดด้วยแอสตร้าเซเนกาเข็มแรกตามด้วยซิโนแวคค่าไตเตอร์จะขึ้นต่ำมาก
ส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ในบุคลากรทางการแพทย์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม บูสด้วยแอสตร้าเซเนกา 1 เข็ม จำนวน 500 คน ในจำนวนนี้ 190 คนพบว่า แอนติบอดี้ขึ้นสูงมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับซิโนแวค 2 เข็ม และค่าการตรวจภูมิคุ้มกัน พบว่า ต่อสายพันธุ์ปกติ หรือต่อสายพันธุ์อัลฟ่า ก็จะมีภูมิขึ้น 100% ส่วนค่าการตรวจภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตานั้น แอนติบอดี้ดีมากเกือบ 100% แต่ภูมิจะลดลงมาในสายพันธุ์เบตา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง กล่าวเพิ่มอีกว่า จากการศึกษาภูมิต้านทานการให้วัคซีนแต่ละชนิดในประเทศไทย พบว่า แอนติบอดี้ในไฟเซอร์ และโมเดอร์นาชนิด mRNA สูงกว่าซิโนแวคเชื้อตายถึง 17 เท่า และแอสตราเซเนกาชนิดไวรัสเวกเตอร์ สูงกว่าซิโนแวค 9 เท่า แต่ขณะเดียวกัน แอนติบอดี้ที่พบในซิโนฟาร์ม และจอห์นสันแอนด์จอห์นสันไม่สูงเท่า mRNA ดังนั้น การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่รวมถึงประชากรเด็ก โดยเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป จะต้องได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง แม้ว่าเด็กจะเป็นโควิด19 อาการจะไม่รุนแรง แต่ต้องไม่ให้เป็นพาหะในการแพร่เชื้อ