"Ring Nebula" วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา องค์การ NASA เผยแพร่ภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) เป็นภาพเนบิวลาวงแหวน “Ring Nebula” สุดอลังการ แสดงให้เห็นแนวกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่แพร่กระจายออกมาจากใจกลางอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์
เนบิลาวงแหวน หรือ Messier 57 จัดเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary Nebula) ซึ่งเนบิวลาประเภทนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์แต่อย่างใด เป็นเพียงความเข้าใจผิดของนักดาราศาสตร์ในสมัยโบราณที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กสำรวจไปบนท้องฟ้า แล้วเข้าใจผิดว่า เนบิวลาเหล่านี้เป็นดาวเคราะห์
โดยเนบิวลาวงแหวนอยู่บริเวณกลุ่มดาวพิณ (Lyra) ห่างออกไปจากโลกประมาณ 2,200 ปีแสง สามารถสังเกตเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก หากย้อนกลับไปประมาณไม่กี่พันปีก่อนหน้านี้ เนบิวลาแห่งนี้เคยเป็นดาวฤกษ์ประเภทดาวยักษ์แดงมาก่อน ซึ่งเป็นสภาพวัยชราของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ด้วย
- สภาพดาวที่ขาดความเสถียร
- มวลสารของดาวจะค่อย ๆ ถูกปลดปล่อยออกสู่อวกาศไปเรื่อย ๆ ในทุกทิศทาง
- จนกระทั่งเหลือเพียงแก่นของดาวฤกษ์ความร้อนสูงที่ถูกทิ้งเอาไว้ที่ใจกลาง เป็นวัตถุขนาดเล็กเรียกว่า ดาวแคระขาว (White Dwarf) ที่จะคอยแผ่รังสีพลังงานสูงออกไปรอบ ๆ
- และทำให้แก๊สมวลสารที่อยู่รอบ ๆ เปล่งแสงสว่างออกมาเช่นนี้
เนบิวลาวงแหวน นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายในอุดมคติของนักดาราศาสตร์ในการศึกษาเนบิวลาดาวเคราะห์ เพราะ เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ที่มีความสว่างมาก สามารถสังเกตเห็นโครงสร้างได้อย่างชัดเจน และอยู่ไม่ไกลจากโลกมาก ซึ่งภาพถ่ายจาก JWST ล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนมาก วงแหวนสว่างสดใสที่เป็นที่มาของชื่อเนบิวลา ภายในประกอบไปด้วยกลุ่มก้อน แก๊สไฮโดรเจนความหนาแน่นสูงกว่า 20,000 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก้อนนั้นมีมวลเทียบเท่ากับโลกของเราทั้งใบ
ภายในวงแหวนมีแนวแถบโมเลกุลที่มีความซับซ้อนกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon, PAH) ซึ่งเป็นกลุ่มสสารที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะก่อตัวขึ้นในเนบิวลาแห่งนี้ ขณะที่ด้านนอกของวงแหวนจะมีแนวลำสสารเล็ก ๆ จำนวนมากที่มีทิศทางพุ่งออกมาจากใจกลางเนบิวลาอย่างชัดเจน ซึ่งแนวสสารเหล่านี้แทบจะมองไม่เห็นในภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขณะที่ภาพถ่ายในช่วงคลื่นอินฟราเรดจาก JWST แสดงให้เห็นรายละเอียดเหล่านี้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกล้อง MIRI ของ JWST ยังแสดงให้เห็นแนวส่วนโค้งรอบนอกที่ล้อมรอบเนบิวลาแห่งนี้เอาไว้ และน่าจะถูกปลดปล่อยออกมาทุก ๆ 280 ปีจากกระบวนการบางอย่าง ซึ่งจากทฤษฎีวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ หากเป็นดาวฤกษ์ดวงเดียวสิ้นอายุขัย ไม่น่าจะมีกระบวนการใดที่จะทำให้เกิดโครงสร้างเช่นนี้ได้
นักดาราศาสตร์จึงคาดว่า เนบิวลาแห่งนี้น่าจะเป็น ระบบดาวคู่ (binary star) โดยเมื่อสมาชิกดวงหนึ่งสิ้นอายุขัยลง แรงโน้มถ่วงจากดาวอีกดวงหนึ่งจะมีส่วนที่ช่วยเหวี่ยงสสารเหล่านี้ออกไปรอบ ๆ ซึ่งจะสัมพันธ์กับคาบการโคจรของดาว
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Banana IT : Dahua Brand Day
DAHUA MONITOR ราคาสบายกระเป๋าในงบไม่ถึง 10,000.- ซื้อบนเว็บลดสูงสุด 640.- ใช้โค้ดดลดเพิ่มรวมโค้ดกว่า 800.-*
ลดเพิ่ม 500.- โค้ด BDAH5 ซื้อขั้นต่ำ 5,000.-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง