กสม. ออกแถลง ปม ตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องขังถึงแก่ชีวิต

กสม. ชี้เหตุตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องขังถึงแก่ความตายละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง แนะรัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายซ้อมทรมานฯ-ปฏิรูปองค์กรตำรวจตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้เหตุตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องขังถึงแก่ความตายละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง แนะรัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายซ้อมทรมานฯ – ปฏิรูปองค์กรตำรวจตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ตามที่ปรากฏข่าวและคลิปของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกรับผลประโยชน์กระทั่งผู้ต้องหารายดังกล่าวได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ต้องหาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอาจได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิต จึงถือว่าขัดต่อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ตลอดจนไม่สอดคล้องตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

 

กสม.มีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งยังคงปรากฏเป็นเรื่องร้องเรียนมายัง กสม.เป็นระยะ ประกอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์แจ้งในการกระทำความผิด จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการดังนี้

 

  1. เร่งสอบสวนและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มดังกล่าวด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ตลอดจนจัดให้มีการคุ้มครองพยานที่รัดกุม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาสั่งการให้มีการติดกล้องวงจรปิดในกระบวนการและสถานที่สอบสวนทุกแห่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน

 

  1. เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ตามที่ กสม.เคยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร 0503/ว(ล)26227 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เห็นชอบให้บรรจุเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพื่อให้มีการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องตามอนุสัญญา CAT ที่ประเทศไทยเป็นภาคีโดยเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

  1. ผลักดันให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการ และกฎระเบียบ โดยเฉพาะกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยให้อัยการเข้ามากำกับการสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจ เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสากลและหลักสิทธิมนุษยชน อันจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะองค์กรตำรวจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องขังหรือผู้ต้องสงสัยว่ามีความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น