พล.ต.ท.อำนวย ร่ายยาว คดี ผกก.โจ้ ถุงคลุมหัวผู้ต้องหา ลั่น อับอาย อัปยศ อดสู

พล.ต.ท.อำนวย ร่ายยาว คดี ผกก.โจ้ ถุงคลุมหัวผู้ต้องหา ลั่น อับอาย อัปยศ อดสู

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า อับอาย อัปยศ อดสู…

สุดที่จะพรรณนากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายตำรวจระดับผู้กำกับการหัวหน้าสถานีใหญ่แห่งหนึ่งนำทีมกระทำต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด ด้วยการทรมานทรกรรม โดยวิธีการนำถุงดำมาครอบศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ หายใจไม่ออก ทรมาน จะเพื่อให้รับสารภาพโดยหวังผลในทางคดีหรือเป็นการรีดเอาทรัพย์ 2 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวก็ตามทีเถอะ!!!! ซึ่งนั่นมันเป็นวิธีการสมัยโบราณ เป็นวิธีการสืบสวนสอบสวนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อคราที่ยังใช้กฎหมายจารีตนครบาล ให้นำการทรมานทรกรรมด้วยรูปแบบต่าง ๆ มาใช้กับผู้ต้องหาเพื่อค้นหาความจริงด้วยการใช้วิธีการต่าง ๆ … บีบขมับด้วยเครื่องบีบขมับ ตอกเล็บ ใส่ไปในลูกตะกร้อให้ช้างเตะ … จะพิสูจน์ว่าคนใดพูดความเท็จ คนใดพูดความจริง ใช้วิธีดำน้ำแข่งกันใครอึดกว่าโผล่พ้นน้ำทีหลังคนนั้นพูดความจริง วิธีการทั้งหมดทำถูกต้องตามที่กฎหมายในขณะนั้นบัญญัติ ผู้กำกับการคนนี้กับบรรดาลูกน้องที่ร่วมทีม น่าจะเกิดเป็นตำรวจในยุคนั้นถึงได้นำวิธีการทรมานทรกรรมตามกฎหมายจารีตนครบาลกลับมาใช้ในชาตินี้ กลับมาเกิดใหม่ทั้งทีน่าจะนำเรื่องดี ๆ มาใช้ในชาติใหม่นี้…..

รู้หรือไม่ว่า ด้วยการใช้วิธีการที่ป่าเถื่อน ล้าสมัยไร้เหตุผล ขาดตรรกะด้วยวิธีการดังกล่าว จนทำให้ชนชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมที่เข้ามาในประเทศสยาม อ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย โดยได้ตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีความของพวกตนเองขึ้นในแผ่นดินสยาม ไม่ยอมขึ้นศาลไทยเราเรียกกันว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไงล่ะ …. งั้นก็แปลว่าสยามประเทศได้สูญเสียอำนาจ 1 ใน 3 คือ อำนาจตุลาการไปแล้วโดยปริยาย คงเหลืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร คงค่อย ๆ คืบคลานปฏิเสธไม่ยอมรับ หากครบสามอำนาจเมื่อใดสยามประเทศก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นโดยทันที(เรื่องนี้ถึงขนาดจะทำให้เสียเมืองเชียวละ)

แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ พระบารมี ของพระบูรพกษัตริย์สืบต่อกันมาหลายพระองค์ได้ทำการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัย กล่าวเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และตำรวจได้เร่งทำการปฏิรูปเพื่อให้ชาวต่างชาติยอมรับให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กลับมายอมรับกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และตำรวจของสยามประเทศ จึงได้มีการปฏิรูปตำรวจเสร็จภายใน 1 ปี ระหว่างปี พ.ศ 2404 ถึง 2405 โดยมีเจ้าพระยายมราช(ครุฑ บ่วงราบ) เป็นแม่กองในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจึงได้รับการถวายพระนามว่า “พระบิดาแห่งตำรวจไทย” ทำการปฏิรูปกฎหมายเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมี กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นแม่กอง เราจึงมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ประกาศใช้ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศสยาม โดยให้ยกเลิกกฎหมายจารีตนครบาลซึ่งเมื่อตำรวจมีความทันสมัย กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายมีความทันสมัย วิธีการค้นหาความจริงด้วยพยานหลักฐานใช้ตรรกะวิทยา วิชาที่ว่าด้วยเหตุผล การชั่งน้ำหนักพยาน เลิกการใช้วิธีบีบขมับ ตอกเล็บ ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ เอาถุงดำคลุมศีรษะ จิปาถะที่เป็นการทรมานทรกรรมไปเสียสิ้นแล้ว ชาวต่างชาติจึงไม่มีเหตุที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมต่อไปอีก จึงยอมคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมายอมขึ้นศาลไทย มันสำคัญถึงขนาดจะเสียบ้านเสียเมืองกันเชียวนะ!!

ชาวต่างชาติปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไทย เกิด”สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าคนไทยด้วยกันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไทย เกิด”สิทธิสภาพในอาณาเขต”ขึ้นละ จากเหตุกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่สร้างความเป็นธรรมในสังคม ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของ… ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือของ… ขาดความเป็นอิสระ เล่นพรรคเล่นพวก เข้าไม่ถึง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้…. แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ จะยังไม่ยอมปฏิรูปตำรวจให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วอีกหรือ การปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เวลาในการปฏิรูปตำรวจเพียงปีเดียวแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 260 บทบัญญัติให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี เช่นเดียวกันแต่นี่เข้ามา 3-4 ปีแล้วยังไม่มีวี่แวว จะรอให้เกิดสิทธิสภาพในอาณาเขตกันขึ้นจริง ๆ หรืออย่างไร? วานบอก

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระผมขอความเป็นธรรมให้กับบรรดาข้าราชการตำรวจ เป็นเรื่องความประพฤติ พฤติกรรมส่วนบุคคล ผมเรียนจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ไม่เคยสั่งสอนพันอย่างนี้ จบออกมาปฏิบัติหน้าที่จนเกษียณอายุราชการ ไม่เคยประพฤติ ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นการกระทำเยี่ยงนี้ ระหว่างรับราชการเป็นครูบาอาจารย์ก็ไม่เคยสั่งสอนใครให้ทำอย่างนี้ แต่ยอมรับความจริงว่า “ปลาตายตัวเดียวย่อมทำให้เหม็นไปทั้งข้อง” ถ้าได้ปฏิรูปตำรวจปัญหานี้จะแก้ไขได้โดยไม่ยาก ในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกำหนดให้มีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนตำรวจ เรียกย่อว่า กร.ตร. ซึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาตรวจสอบความประพฤติ พฤติกรรมของข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องเรียน ญาติผู้เสียชีวิตก็จะกล้าร้องเรียนแทนที่จะไปร้องกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจเองให้ตรวจสอบกันเอง เป็นอาทิ

“กัมมุนา วัตตติ โลโก”
สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม
25 สิงหาคม 2564

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เปิดหลักฐาน “กลุ่มติดอาวุธ” แห่ติวเข้มบินโดรน จับตา! สอดแนมชายแดนไทย
"ศุลกากร" บุกจับ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ลักลอบนำเข้าไทยกว่า 256 ตัน คาท่าเรือแหลมฉบัง
นายกฯ แสดงความเสียใจครอบครัว '2 ตชด.' เหยื่อบึ้มนราธิวาส ย้ำพร้อมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ AI ปลอมเสียงหลอก "นายกฯอิ๊งค์" โอนเงินบริจาค เร่งยกเป็นนโยบายแก้ปัญหาด่วน
คปท.-ศปปส.รวมพลให้กำลังใจ “แพทยสภา” ขีดเส้น รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา “ทักษิณ”
นายกฯ มั่นใจ ลงพื้นที่ชายแดนใต้พรุ่งนี้ไร้กังวล รับปากช่วยปชช.เต็มที่ เน้นแก้ปัญหาทุกด้าน
“หมอเหรียญฯ” เตือนสปสช.อย่าหาทำ ชี้ผิดอาญา ถ้ายกเลิกสัญญา "มงกุฎวัฒนะ" เป็น รพ.รับส่งต่อ
อธิบดีกรมที่ดิน ยัน "ชาดา" ไม่ได้เซ็นเพิกถอนกรรมสิทธิที่ดิน "อัลไพน์"
ผู้นำเกาหลีใต้ถูกคุมตัวไปสอบปากคำ
"พิพัฒน์" หารือ "รมว.เกษตรฯ" อิสราเอล ติดตามปัญหาคนไทย ยินดีได้โควต้าแรงงานปี 68 เพิ่ม 13,000 อัตรา

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น