การเมืองไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลเศรษฐา 1 กำลังเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่คำถามคือ รัฐบาลภายใต้การบริหารของพรรคเพื่อไทยจะไปได้ไกลถึงขนาดไหน เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาล 314 เสียงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีจุดเสี่ยงที่อาจเป็นหายนะทางการเมืองเนื่องจาก รัฐบาลชุดนี้เป็นไปในลักษณะ ครม.ต่างตอบแทนที่ยึดผลประโยชน์มากกว่าประเทศชาติ
จุดกำเนิดของ ครม.ต่างตอบแทนมีปฐมบทเริ่มจากหลังจากการเลือกตั้งมีสองพรรคการเมืองใหญ่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง และสอง คือพรรคก้าวไกล 151 เสียง และพรรคเพื่อไทย 141 เสียง แต่ทั้งสองพรรคไม่อาจประสานกันได้ เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีจุดยืนเรื่องการแก้ไข ยกเลิกมาตรา 112 อย่างชัดเจนจึงทำให้ไม่ผ่านด่านของ สว.ในการเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และด้วยเหตุนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องสลัดพรรคก้าวไกลทิ้ง โดยไปดำเนินการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเอง
ในภาวะของเพื่อไทยที่มีเสียง สส.จำนวน 141 เก้าอี้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก จึงต้องจำยอมแลกทุกทุกอย่างในการมัดรวมกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ได้ เพราะมันคือเดิมพันครั้งใหญ่ในการกลับมาถือครองอำนาจรัฐ รวมถึงการปูทางให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน ดังนั้นทุกองคาพยพจะต้องเมกชัวร์ว่า เพื่อไทยต้องได้เป็นผู้นำรัฐบาลเท่านั้น
นี่จึงเป็นที่มาของการดึงพรรคสองลุงอย่างพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติเข้ามาร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้เสียง สว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาผ่านไปด้วยดี แม้จะต้องกลืนเลือดผิดสัจจะวาจาที่เคยให้คำมั่นกับบรรดากองเชียร์ว่าจะไม่มีทางจับมือกับพรรคสองลุงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้กลายเป็นที่มาของโรงเรียนการละครเพื่อไทยกรณีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อรักษาคำมั่น แต่กลับไปเสวยสุขกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามโผครม.ล่าสุด
เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นผลประโยชน์ทางการเมืองจึงทำให้บรรดาพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลถือแต้มต่อในการจับจองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ โดยเฉพาะตลอดเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นภาพการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียะเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเคยหล่นวาจาเรื่องการแย่งชามข้าวสุนัข
ตัวอย่างเด่นชัดของภาพครม.ต่างตอบแทน คือ กรณีการต่อรองเก้าอี้ของ 3 พรรคใหญ่ เริ่มจากพรรคภูมิใจไทยที่ตอนเข้าร่วมรัฐบาลมีธงชัดเจนว่า ต้องได้กระทรวงคมนาคมเท่านั้น โดยตอนนั้นแกนนำภูมิใจไทยอ้างว่า ต้องการสานงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ในความจริงแล้วสาเหตุที่ภูมิใจไทยต้องการปักธงที่กระทรวงคมนาคมเป็นเพราะต้องการสานต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีผลประโยชน์มหาศาล และที่สำคัญต้องดูแลคดีสำคัญที่ดินรถไฟเขากระโดงที่ถือเป็นจุดตายของพรรคภูมิใจไทยหากปล่อยให้ไปอยู่ในมือพรรคการเมืองอื่น
แต่ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ต้องการกระทรวงคมนาคม เพราะถือเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องดูแล และที่สำคัญยังมีนายทุนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้ภูมิใจไทยเข้าไปดูแลกระทรวงคมนาคม เนื่องจากไม่ลงรอยกัน