“ทักษิณ ชินวัตร” ทำสิ่งมิบังควรซ้ำซาก จาก 2552 ล่า 3 ล้านรายชื่อเสื้อแดงถวายฎีกา ถึง 2566 ร่างหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

"ทักษิณ ชินวัตร" ทำสิ่งมิบังควรซ้ำซาก จาก 2552 ล่า 3 ล้านรายชื่อเสื้อแดงถวายฎีกา ถึง 2566 ร่างหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

ถือเป็นประเด็นร้อนจากการที่ นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร เลือกวิธีการร่างหนังสือยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ แทนการเข้ารับโทษจำคุก คุมขัง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเวลา 8 ปี จากการกระทำความผิด คดีอาญา ต่างกรรมต่างวาระ ประกอบด้วย

 

 

(1) คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

(2) คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลย

(3) คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/255ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

ไม่เท่านั้น นักโทษชาย ทักษิณ ยังใช้วิธีการอ้างสาเหตุการป่วย ในการย้ายตัวเองจากแดน 7 เรือนจำพิเศษกรุุงเทพ มานอนพักรักษาตัว อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 และใช้เหตุผลจากการป่วยดังกล่าว ในการยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ คดีอาญาอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเรื่องการทุจริต จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเป็นการเลือกใช้ช่องทางพิเศษทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และเท่ากับเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ในการต้องทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด

 

 

อย่างไรก็ตามวิธีการที่นักโทษชาย ทักษิณ เลือกทำเลือกใช้ในการทำให้ตนเองหลุดพ้นจากทุกการกระทำความผิด ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ นักโทษชายทักษิณ เคยปฏิบัติมาแล้วผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. โดยการระดมล่ารายชื่อประชาชนยื่นถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายทักษิณ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

 

วันที่ 31 ก.ค.2552 นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ประกาศบนเวทีปราศรัย ว่า จำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 5,363,429 คน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่างปรบมือโห่ร้องแสดงความดีใจ ตามด้วย นายทักษิณ ได้โฟนอินมาที่เวทีปราศรัยนปช. ขอบคุณประชาชนที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกา

 

ต่อมานายวีระ ระบุว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ยื่นฎีกาและถ่ายเอกสารลงในคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตัวเลขตอนต้นที่แจ้งไว้คือ 5.4 ล้านชื่อ แต่หากตรวจสอบหมดสิ้นอาจมีถึง 6 ล้านชื่อก็ได้ ดังนั้น จึงขอนัดวันเวลายื่นถวายฎีกาเป็นวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 13.30 น. เป็นฤกษ์ที่เหมาะสม โดยจะมีตัวแทนเข้ายื่นชื่อถวายฎีกา 1,500 คน เพื่อขนรายชื่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ 6 ส.ค.2552 นายทักษิณ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เช้านี้ได้รับโทรศัพท์จากชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ ว่า รัฐบาลใช้ทุกวิธีไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่บังคับเพื่อให้ถอนชื่อ ผมขอถามว่าประชาธิปไตยหายไปไหนแล้ว”

 

 

จากนั้นวันที่ 17 ส.ค. 2552 กลุ่มแกนนำคนเสื้่อแดง นปช. ได้นำรายชื่อจำนวน 3,532,906 คน ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ผ่านนายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ รองราชเลขาธิการ ณ ประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง โดย ทักษิณ ทวีตข้อความว่า “ผมรู้สึกตื้นตันใจมากกับ 4.1 ล้านชื่อที่ถวายฎีกา เมื่อสักครู่เลยพูดที่สนามหลวงไม่ค่อยออกครับ”

 

 

ขณะที่กระทรวงยุติธรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง การทำความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจาก กรณีที่ประชาชนจำนวนมากถูกชักชวนให้ร่วมลงชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าจะทำให้ นายทักษิณ พ้นจากการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลนั้น

 

กระทรวงยุติธรรม ขอชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ จึงเห็นควรชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนดังนี้

 

1.สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ได้รับรองสถานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติและทรงอยู่ภายใต้ กฎหมายเช่นเดียวกับพสกนิกรของพระองค์

 

ขณะเดียวกันกฎหมายก็ได้ยอมรับขนบธรรมเนียมของชาติที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระเมตตา มีพระราชอำนาจในการอภัยโทษได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกรอบและกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 และระเบียบปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมา ผู้ที่มีสิทธิและสามารถจะขอพระราชทานอภัยอภัยโทษได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ว่าจะต้องเป็นตัวของผู้ต้องคำพิพากษาของศาลให้รับโทษทางอาญา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเท่านั้นเป็นผู้ยื่นแสดงความจำนงขอพระราชทานอภัยโทษตาม หลักเกณฑ์และกฎหมาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอน การดำเนินการและประวัติความประพฤติตลอดจนความร้ายแรงของการกระทำความผิดของผู้ต้องคำพิพากษาเพื่อทำความเห็นประกอบการทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย

 

2.กระบวนการทางกฎหมายข้างต้นนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด ไม่เคยปฏิบัตินอกเหนือจากนี้ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ลำพังเพียงผู้ต้องคำพิพากษา บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเพียงคนเดียวก็สามารถดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ประชาชนที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นจำนวนมากมาลงชื่อ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าผู้ดำเนินการซึ่งทราบว่าไม่มีสิทธิและทำไม่ได้นั้น มีวัตถุประสงค์อะไรในการดำเนินการเช่นนี้ หรือเพียงเพื่อตั้งใจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นทางการเมือง

 

3.กระทรวงยุติธรรมเชื่อว่า พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีความประสงค์จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง และ ผู้ที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษกับกลุ่มคนดังกล่าวอาจมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอพระราชทานอภัยโทษและคาดไม่ถึงว่า จะถูกนำไปผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงขอทำความเข้าใจกับประชาชนชาวไทยที่มีความรักชาติ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วย การขอพระราชทานอภัยโทษ และหากพี่น้องชาวไทยได้รับทราบและเข้าใจข้อเท็จจริงนี้แล้วคิดว่าการลงชื่อ ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นและวัตถุประสงค์ของท่าน ก็ขอให้ท่านดำเนินการถอนชื่อของท่านออกจากกระบวนการดังกล่าวก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม

 

ทางด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มนปช.และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากยื่นเรื่องถวายฎีกาไปแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของส่วนราชการ ที่ควรจะรายงานความคืบหน้าต่อประชาชนให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ตรงกันว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว สิ่งที่ประชาชน 3 ล้านรายชื่อเข้าชื่อถวายฎีกานั้นจะปล่อยให้เงียบหายไปเฉยๆ ไม่มีความคืบหน้าคงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง กระบวนการทั้งหมดควรได้รับการเปิดเผย และเป็นหน้าที่ของฝ่ายราชการที่ดูแลที่น่าจะให้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดได้

 

จากการล่ารายชื่อคนเสื้อแดงจำนวนกว่า 3 ล้านรายชื่อ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 จนถึงวันนี้ผ่านไปกว่า 10 แล้ว ไม่ปรากฎว่ามีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด แต่กลับกลายเป็นว่า นักโทษชาย ทักษิณ กลับเลือกวิธีการเดิม ๆ ในการกระทำสิ่งมิบังควร ซ้ำ ๆ อีกครั้ง เพื่อความสุขสบายของตนเองในชีวิตบั้นปลาย ทั้ง ๆ ที่การกระทำผิดที่ผ่านมา เป็นความผิดอาญาฐานทุจริต ประพฤติมิชอบต่อแผ่นดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

หนุ่มค้างค่าเช่าหลักหมื่น ทิ้งขยะกองโตท่วมห้องไว้ให้เจ้าของหอดูต่างหน้า
"ศาลอุทธรณ์" ยืนโทษคุก 8 เดือน "สมบัติ ทองย้อย" อดีตการ์ดเสื้อแดง โพสต์หมิ่น "พล.อ.ประยุทธ์" 2 ข้อความ
สพฐ. ชูศึกษานิเทศก์ทั้งประเทศ กลไกขับเคลื่อน "เรียนดี มีความสุข" สร้างคุณภาพสู่ห้องเรียน
“เต้ อาชีวะ” เดือด! จัดหนัก UN ปล่อยต่างด้าวล้นรพ.รัฐ แย่งคิวคนไทย
ปัตตานีระทึก คนร้ายชักปืน จี้ "พนง.ร้านสะดวกซื้อ" ชิงเงินสด 1.2 ล้าน หนีลอยนวล
เตรียมพบเทศกาลนานาชาติ พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 "จันทบุรีนครอัญมณี" ปีที่ 5 ชูเอกลักษณ์เมืองจันท์ อัญมณีอันเลื่องชื่อ
“สมศักดิ์” นำร่อง “ตู้ห่วงใย” บริการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชน ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ 
"พงษ์ศักดิ์" ยื่นร้องกกต. ขอระงับรับรองผลเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น ชี้พบเหตุหาเสียงส่อผิดกม.
“กฤษอนงค์” ไร้เงาคนยื่นประกัน นอนคุกคืนแรก ด้าน “บอสพอล” มอบทีมกม.ยื่นค้านประกันตัว
‘ทะเลสาบน้ำเค็ม’ โผล่กลางทะเลทรายในมองโกเลียใน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น