สะพัด “กรมราชทัณฑ์” จ่อขยับ ‘ทักษิณ’ เป็นนักโทษชั้นดี หลังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ

สะพัด "กรมราชทัณฑ์" จ่อขยับ ‘ทักษิณ’ เป็นนักโทษชั้นดี หลังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ

หลังจากที่เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยลดโทษจำคุกทั้งหมด 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (2 ก.ย. ) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผย จากแหล่งข่าวระดับสูงถึงฉากทัศน์ความเป็นไปหลังจากนี้ ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างรับโทษจำคุก 1 ปี และยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า เดิมศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คือ คดีที่ 1 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี  คดีที่ 2 ความผิดต่อตำแหน่งกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งภายหลังศาลให้นับโทษสูงสุดแทน จึงรวมโทษจำคุกคดีที่ 1 และ 2 เป็น 3 ปีแทน  และ คดีที่ 3 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กำหนดโทษจำคุก 5 ปี  รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

เมื่อมีพระราชทานอภัยลดโทษลงมา จึงเหลือเพียงปีเดียว เท่ากับว่า นายทักษิณเหลือโทษจำคุกเพียง 1 ปี จากนั้นอาจจะต้องไปดูในเรื่องของชั้นนักโทษของนายทักษิณ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่า ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุกและการพักการลงโทษ พ.ศ. 2559 โดยนายทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทยและเข้ามาเป็นนักโทษในเดือนสิงหาคม จึงเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง และถูกปรับเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีโดยอัตโนมัติ ตามระเบียบดังกล่าวที่กำหนดไว้ว่า ให้นักโทษเด็ดขาดที่เข้าเรือนจำในเดือนสิงหาคม ถูกเลื่อนชั้นจากนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเรือนจำฯ ในเดือนกันยายน ก็จะต้องรอรับการปรับชั้นนักโทษในเดือนธันวาคม

เมื่อถามว่าในกรณีของนายทักษิณนั้น จะได้รับการลดโทษลงอีกในวันสำคัญต่าง ๆ หลังจากนี้หรือไม่ หรือต้องรับโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่มีลดหย่อนตามที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า พระราชอำนาจเด็ดขาดนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เรื่องของการพระราชทานอภัยโทษตามวันสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จะถึงในเร็ววันนี้คือวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ซึ่งไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า ในวันสำคัญต่าง ๆ นั้น จะมีพระราชทานอภัยโทษหรือพระราชทานอภัยลดโทษให้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่มิอาจก้าวล่วงได้

อย่างไรก็ตาม จะมีเรื่องเกณฑ์อายุของผู้ต้องขัง เช่น กรณีเป็นผู้ต้องขังสูงวัย พ่วงด้วยโรคอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะได้รับการพิจารณาพักโทษ ซึ่งทางผู้บัญชาการเรือนจำจะดำเนินการตรวจดูเรื่องหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดีรายใด เข้าเกณฑ์พักโทษ และรายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ แล้วจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติ ท้ายสุดจึงจะแจ้งให้ผู้ต้องขังรับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบุคคลมีชื่อเสียงหลายรายที่ได้รับการพักโทษและออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้านนอก เพียงแต่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในการรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติ เช่น กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย / กรณีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นต้น อีกทั้งบางรายอาจจะมีการติดกำไลอีเอ็มสักระยะ แต่หากคณะกรรมการเห็นว่ามารายงานตัวปกติ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็จะอนุญาตปลดกำไลอีเอ็ม

แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า ถือเป็นเกณฑ์ปกติสำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้เข้าเกณฑ์การพักโทษ เช่น การเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ไม่เคยประพฤติผิดวินัย หรือขณะที่อยู่ในเรือนจำมีความประพฤติดี ซึ่งเรือนจำฯ ก็จะมีการเสนอแจ้งไปยังผู้ต้องขังว่า เข้าเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ระหว่างการพักโทษ ผู้ต้องขังจะอยู่พื้นที่ใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีเงื่อนไข คือ ห้ามก่อคดี ห้ามกระทำความผิดระหว่างการคุมประพฤติ ดังเช่น ในกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่มีเงื่อนไขห้ามพูดเรื่องการเมือง เป็นต้น

ทำให้ในกรณีของนายทักษิณที่เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ทางคณะกรรมการอาจพิจารณาการพักโทษตามเงื่อนไขการที่ระบุไว้ข้างตน ส่วนเรื่องจำกัดรัศมีกิโลเมตรหลังการพักโทษนั้นแล้วแต่รายบุคคล เพราะบางรายอาจจะถูกเงื่อนไขจำกัดได้แค่พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ส่วนถ้าจะไปต่างจังหวัด ก็ต้องดำเนินการแจ้งขออนุญาต อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะเป็นความรับผิดชอบของหน้างานกรมคุมประพฤติและเมื่อจบกระบวนการพักโทษ จึงค่อยดำเนินการรายงานต่อศาล แล้วเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัวตามวันเวลา เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว

เมื่อถามถึงเรื่องการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ จะมีกรอบเวลาถึงเมื่อไหร่ แหล่งข่าวระบุว่า การนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ จะนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่ที่อาการความเจ็บป่วยหนักหรือเจ็บป่วยเบา ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ทำการรักษา หากแพทย์ประเมินว่า จะต้องอยู่รับการรักษาต่อเนื่องก็ต้องอยู่ แต่ถ้าประเมินว่าอาการทุเลาดีขึ้นพิจารณาส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็สามารถกลับเข้าไปรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้

แหล่งข่าวยังยืนยันด้วยว่า นายทักษิณได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันแรกที่นายทักษิณเดินทางกลับมายังประเทศไทยและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีเอกสารประกอบการถวายฎีกา ทั้งคำพิพากษาของศาลรายคดี / เอกสารรายงานคุณงามความดี / ข้อมูลประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วย / และหลักฐานอื่น ๆ ส่วนตัว แต่ภายหลังการยื่นนั้น ก็เป็นกระบวนการตรวจสอบเอกสารของทางเรือนจำฯ /กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ไปตามลำดับชั้น จึงเป็นห้วงเวลาตามที่สังคมได้เห็นกัน 10 วันนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม ก่อนปรากฏพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 .

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เกาหลีใต้สั่งอพยพประชาชนหนีตายไฟป่า
สหรัฐถล่มศูนย์กักกันชาวแอฟริกาที่เยเมนดับเกือบ 70 ราย
สภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อง "ผู้ว่าฯกทม." เร่งตรวจสอบความปลอดภัยอาคารสูง 50 เขต ภายใน 30 วัน หลัง 11 ชุมชน แจ้งเบาะแส พบบางแห่ง ทำผิดกม.
ชี้เป้า วิธีจ่ายค่าไฟ แบบไม่มีค่าธรรมเนียม
"นายกฯ" ไข้กลับ หน้าซีด อ่อนเพลีย หลังลงพื้นที่นครพนม เรียกทีมแพทย์เช็กอาการด่วน
"CPF เคียงข้างยามวิกฤต" ชวนคนไทยส่งต่อพลังแห่งการให้ รพ.รามาธิบดี
"อธิบดีกรมอุทยานฯ" แจงยิบปมเงินรายได้ ยอมรับเตรียมปลด ‘ทราย สก๊อต’ พ้นที่ปรึกษา เหตุทัศนคติไม่ตรงกัน วอนรถทัวร์ดูข้อเท็จจริง
"พิพัฒน์" นำทีมเยี่ยมกลุ่มอาชีพอิสระ เครือข่ายแรงงาน นครพนม รับฟังปัญหา พร้อมเดินหน้ากองทุนหนุนพัฒนาอาชีพ
ATC ยื่นจม.ฉบับ 2 ขอ “นายกฯ” เร่งแจงข้อเท็จจริง ปมตึกสตง.ถล่ม ภายใน 15 วัน
สนามไชย 2 ชู "โครงการพระราชดำริ" มุ่งพัฒนาคน-ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น