เอกชน-นักวิชาการ ฝากการบ้าน “ครม.เศรษฐา 1” แก้วิกฤติปท.

เอกชน นักวิชาการ ฝากการบ้านครม. เศรษฐา1 แก้วิกฤตประเทศ อัดฉีดเงินให้เหมาะสมต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งแก้หนี้ ย้ำค่าแรงต้องอยู่ได้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง เร่งเพิ่มสกิลให้คนทำงาน ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ” โดยมี ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย , ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) , ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ร่วมเสวนา

 

ดร.นณริฎ ระบุว่า ความท้าทายระยะสั้น คือ การต่อสู้ระหว่างแรงกดดันที่อยากให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จึงควรคัดนโยบายที่สำคัญ เหมาะสมกับช่วงระยะเวลา บางนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องทำแล้ว บางนโยบายอาจจะปรับขนาด เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องดูในปัจจุบันว่าจำเป็นต้องกระตุ้นระดับไหน โดยเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจไทยที่ควรจะเป็น ซึ่งหากประมาณการว่าโดยเฉลี่ยเศรษฐกิจไทยควรเติบโต 3.7-3.8 % แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2.8% เท่านั้น แปลว่าหายไป 1% หรือราวๆ 1-2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น การให้งบ 5.6 แสนล้านบาท อาจจะเยอะเกินไป เสี่ยงเกิดภาวะเงินเฟ้อ หากตัดบางส่วนมาใช้สำหรับรัฐสวัสดิการก็เป็นทางออกได้

อีกเรื่องคือ การแก้ปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ใช่การยกหนี้ แต่ต้องมีการจัดกลุ่มหนี้ แล้วแก้ปัญหาหนี้นั้นให้ตรงจุด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลมาร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง ครัวเรือนของไทยที่สูงถึง 90% ต่อจีดีพี คนที่มีปัญหามากที่สุด คือ คนที่ไม่มีเงินออมเลย ขณะที่ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าคนเราควรมีเงินออมอย่างน้อย 3 -6 เดือน แต่คนรุ่นใหม่อาจจะน้อยกว่านี้อีก ดังนั้น เป็นโจทย์ที่จะต้องปลูกฝังการออม ลดการเติบโตผ่านการจับจ่ายใช้สอย

นอกจากนี้ ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจการกระจายทรัพยากรเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมถึง การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าถึงคนจนจริง แต่เพิ่มให้มีการเข้าถึงมากขึ้น ที่สำคัญคือเนื่องจากเรามีการแจกมาระยะหนึ่งแล้ว จากนี้ต้องเป็นการเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้

 

 

ด้าน ดร.ธนิต กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นตัวเลือกที่เราไม่มีทางเลือก แต่ดีที่สุดในแคนดิเดตทั้งหลาย แต่นายเศรษฐา คงไม่ต้องเรียนรู้งานมากเพราะมาจากภาคเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพที่บอบช้ำต่อเนื่องมาหลายปี จากรัฐประหาร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้การลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง วันนี้ก็ยังไม่ฟื้น จากนั้นก็มีรัฐบาลที่เน้นเรื่องความมั่นคง และมั่งคั่ง มานาน 9 ปี ที่เน้นความมั่นคง จากนั้นก็มาเจอวิกฤติโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นทั้งโลก เมื่อกำลังจะฟื้นก็เจอเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ กระทบราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูด แล้วดึงราคาพลังงาน และสินค้าต่างๆ ให้เพิ่มตามไปด้วย เกิดภาวะเงินเฟ้อปีที่แล้วเฉลี่ย 6% วันนี้ไม่ลดลงเลย แม้จะขึ้นมา 0.38% ปีนี้จะทำให้ได้ 1% แต่ก็ไม่ถือว่าลดลง กลับมาเจอวิกฤติโลกที่มีแนวโน้มว่าปีหน้าจะเจอ recession จะยิ่งหนัก

ดังนั้น เศรษฐกิจบอบช้ำมากถึงจะบอกว่ากลับมาได้แต่ก็ไม่มาก ส่งผลให้สภาพคล่องทั้งธุรกิจและครัวเรือนแรงมาก หนี้สินต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งหนี้ NPL หนี้ระยะยาว ต่างๆ เกือบ 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข หนี้ NPL รายไหนปล่อยเงินได้ก็ต้องปล่อย และที่แทรกซ้อนเข้ามา คือ การส่งออก ซึ่งหดตัว 6.2% ในเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นภาคส่วนที่มีการอุ้มแรงงานถึง 3 ใน 4 ของแรงงานทั้งประเทศ รวมถึงเกษตรกร จากนี้ต้องส่งออก 9% ตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป จากที่ติดลบเฉลี่ยทุกเดือน 5% แต่เป็นไปไม่ได้ ตนพยากรณ์ว่า ปีนี้พยากรณ์ว่าจะติดลบมากกว่า 3% ทั้งหมดทำให้กำลังซื้ออ่อน กำลังการผลิตต่ำ ข้อสุดท้าย คือความเชื่อมั่นของการค้า การลงทุน ดัชนีชี้วัดต่างๆ ติดลบหมดทุกเรื่อง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ดร.ธนิต กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ควรทำให้เห็นผล 3 เดือน ไม่ใช่ออกมานโยบายมา 24-25 ข้อ แต่เป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น ที่ต้องเร่งสุด คือ อัดฉีดเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อพยุงการจ้างงาน เพราะขณะนี้เริ่มมีการเลิกจ้าง พร้อมเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ และมีก้อนใหม่มา

ส่วนภาคแรงงาน โดยเฉพาะค่าแรง 600 บาทนั้น ถือว่าหนักแม้จะใช้กรอบ 4 ปี ถ้าเป็นโรงงานใหญ่ไม่สะเทือน แต่เอสเอ็มอี รายย่อยเจ๊งหมด ดังนั้น ควรพิจารณาและมีมาตรการอย่างพอเหมาะ ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี ตอนนี้จ้างไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าจะพิ่มขึ้นมาอีก 10,000 บาท เป็น 25,000 บาท จะทำให้เด็กตกงาน แล้วจะมีการดันเด็กอาชีวะเข้าเรียนปริญญาตรีหมด ประเทศนี้ก็จะมีแต่คนจบปริญญาตรี ไม่มีสายอาชีวะ

สุดท้ายเรื่องพลังงาน ดีเซลต้องลด หรือตรึงราคาไม่เกิน 32 บาท เพราะราคาน้ำมันเพิ่ม ราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นด้วย อนาคตถ้าน้ำมันลง ราคาของก็ไม่ลง แล้วถ้ายาวกว่านั้นน้ำมันขึ้น 3 -4 บาท ราคาของก็ขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจ “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งเข้ามากับความท้าทาย และมาภายใต้ความคาดหวัง แต่อย่างน้อยที่เห็นขั้วทั้งหลายมีการจับมือกันแล้ว

ดร.ธนิต กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าทุกคนอยากมีรายได้สูง แต่ก็จะตามมาด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น เหมือนที่ญี่ปุ่นเงินเดือน 5 หมื่นบาท แต่น้ำเปล่าขวดละ 100 บาท ราเมงชามละ 300 บาท ค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000-40,000 บาท อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาตัวอย่างรัฐที่ล้มเหลว อย่างฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา ซึ่งเราเองก็เดินตามเขา คือ การเอาใจรากหญ้า ค่าจ้างเท่าสหรัฐอเมริกา แต่อุตสาหกรรมอยู่ไม่ได้ ย้ายฐานการผลิต เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งๆ ที่ประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย มีคนเสียภาษีประมาณ 4 ล้านคน เพื่อเลี้ยงคนประมาณ 66.5 ล้านคน ดังนั้น เรื่องค่าจ้างต้องเหมาะสม อยู่ได้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง

ดังนั้น เรื่องนี้ตนเตรียมที่จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ในเรื่องหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเชิญนายจ้างมาช่วยสะท้อนปัญหาและความต้องการ และสิ่งที่ต้องทำด้วยกัน คือ การพัฒนาเจ้าของธุรกิจ ส่งเสริมเทคโนโลยีในการทำงาน มีกองทุนเรื่องนี้ชัดเจนสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี

 

ด้านดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า วิกฤติที่เข้ามาจะมี 3 แบบคือ วิกฤติที่มาจากอดีต วิกฤติในอนาคต และที่รัฐบาลจะสร้างเอง เมื่อดูการศึกษากับแรงงาน ต้องทำทั้งกลุ่มวัยเรียน และกลุ่มวัยทำงานที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันโดยเฉพาะคนที่ทำงานแล้วประมาณ 12 ล้านคน ต้องมีการอัพสกิลให้สูงขึ้น ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เช่นนั้นคนจะตกงานเยอะ แต่ยังไม่เห็นนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนที่ชัดเจนในการอัพสกิล รีสกิล ให้คนทำงาน ที่ตนมองว่าต้องทำในกลุ่มนี้ก่อนเพราะเป็นกลุ่มที่จะทำให้เกิดการขยายจีดีพี กลุ่มนี้คือคนที่จะทำให้รัฐบาลมีงบฯ ในการสร้างคน ใช้ในด้านต่างๆ ถ้า 1 ปียังไม่เป็นรูปธรรมเกรงว่าจะไม่ทัน

ดร.เกียรติอนันต์ มองหน้าตารัฐบาลนี้แล้วเห็นว่า มีความเสี่ยง ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถาม แต่เมื่อคัดสรรกันมาแล้วก็ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด นโยบายที่ดี ซึ่งภาคประชาชน วิชาการ สื่อ ต้องร่วมกันตั้งคำถาม ตรวจสอบ ส่งเสียง อย่าหวังว่าเขาจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ไม่ดีก็เตือน ขาดก็เสริม สื่อช่วยส่งเสียง และขอย้ำด้วยว่า เรื่องการตรวจสอบต่างๆ นั้นควรใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน นักการเมืองทุกคนแบบเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติหรือให้เอกสิทธิ์กับนักการเมืองคนไหน หากเราใช้ไม้บรรทัดเดียวกัน จะส่งผลให้คนมีอำนาจเกิดการละอายใจ และเปลี่ยนมาใช้ไม้บรรทัดเดียวกันได้ เราต้องโลกสวย ต้องมีความหวังและกล้าที่จะเปลี่ยน

 

ขณะที่ นายนิติรัตน์ กล่าวว่า สวัสดิการของประชาชนไม่ควรจะตัดไปมากกว่านี้ และถ้าเอางบ 5.6 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลนั้น คิดว่าสามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ได้ 20% และควรพูดถึงการปฏิรูปภาษีต่างๆ การปฏิรูปกองทัพ ซึ่งมีงบฯ กว่าแสนล้านล้านบาท หากลดลง 20% เท่ากับว่าจะได้เงินงบฯกว่า 4 หมื่นล้านบาท ถ้าลดเงินซื้อเรือดำน้ำอีก 3 หมื่นล้านบาทก็จะมีเงินในเป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุได้นานถึง 1 ปี ทันที แล้วถ้ามองว่านโยบายเงินดิจิทัล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว แต่ถ้ามองใหม่เงินสำหรับผู้สูงอายุ 3,000 บาท แต่ปรับการให้ปีแรกเป็น 1 พันบาท จากเดิม 600 บาท เท่ากับว่าปรับเพิ่ม 400 บาท แล้วธรรมชาติของผู้สูงอายุเมื่อได้รับเงินแล้วก็มีการใช้จ่ายเลย จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน ที่สำคัญตนมองว่า เรื่องสวัสดิการประชาชนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจริงๆ ทะลายกำแพงระหว่างคนรวย คนจนลงได้

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

รวบแล้ว “พี่สาวเมียทนายตั้ม” หลังตกเป็นผู้ต้องหา “ร่วมกันฟอกเงิน” เร่งสอบปม 39 ล้าน
"ดร.ทันกวินท์" เล่านาที "ไอซ์ รักชนก" โดดเดี่ยว มาศาลฟังไต่สวนถอนประกันสส. ดูไม่มั่นใจเหมือนอยู่สภาฯ
‘สามารถ’ ห่วงแม่อายุมาก มอบทีมทนายยื่นโฉนดมูลค่า 1.2 ล้าน ขอประกันตัว
เยอรมนีจ่อเปลี่ยนสถานีรถไฟใต้ดินเป็นที่หลบระเบิด
จีนเตือนไม่มีใครชนะในสงครามการค้า
อัยการนัดฟังคำสั่งคดี "เชน ธนา-ภรรยา" ถูกกล่าวหาฉ้อโกง 29 พ.ย.นี้
“ลุงป้อม” ปัดตอบปม “สิระ” อ้างคนในป่าต่อสายช่วย “สามารถ”
"ทนายพจน์" ยื่นหนังสือสำนักพุทธฯ จี้คณะสงฆ์แจ้ง "พระปีนเสา" สละสมณเพศ หลังถูกขับพ้นวัดวังกวาง
ตร.นำกำลังทลายแคมป์ "แรงงานต่างด้าวเถื่อน" นับร้อย ย่านหนองใหญ่-ชลบุรี เตรียมผลักดันออกนอกประเทศ
‘โฆษก ทบ.’ แจง ‘เจ้ากรมยุทธฯ’ ทำร้ายทหาร เหลือสอบพยาน 2-3 ราย ทำได้แค่ตักเตือน ส่วนคดีอาญา เจ้าทุกข์ต้องดำเนินการ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น