อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลั่นพร้อมขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของ “ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เร่งปราบปรามหมูเถื่อนและกวาดล้างขบวนการทำลายชาติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและปกป้องความปลอดภัยอาหารของคนไทย
นายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรทุกด้านทันที สำหรับกรมปศุสัตว์ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาหมูเถื่อนและการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านต้นทุน เกษตรกรต้องแบกรับภาระด้านต้นทุนที่สูงแต่ขายไม่ได้ราคา และยังเสี่ยงต่อการระบาดของโรคสัตว์ ทั้งยังส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยย้ำว่า ต้องปราบปรามอย่างจริงจังและเห็นผลภายใน 1-2 เดือน นั้น กรมฯ เร่งดำเนินการทันทีตามนโยบาย รมว.ธรรมนัส โดยได้ประชุมด่วนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเดินหน้าสานต่อการปราบปรามหมูเถื่อนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
“การปราบปรามหมูเถื่อน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ รมว.เกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยตรง และได้ประกาศทำสงครามกับขบวนการหมูเถื่อน ที่สร้างความเสียหายให้เกษตรกรไทยด้วยการดักจับทุกทิศทาง เพื่อกวาดล้างหมูผิดกฎหมายที่แทรกซึมอยู่ในประเทศ และกัดกร่อนสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยในวงกว้าง ที่ผ่านมา กรมฯ บังคับใช้กฎหมายแล้ว 238 คดี รวมของกลาง 1,142 ตัน มูลค่ารวมกว่า 190 ล้านบาท และเตรียมทำลายของกลางครั้งใหญ่ในเดือนกันยายนนี้ และได้ยกระดับการทำงานให้เคร่งครัดขึ้น โดยเร่งรัดการปฏิบัติงานของ WARROOM ในทุกเขตและทุกจังหวัด ให้ดำเนินการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ และเสาร์-อาทิตย์ เพื่อปราบหมูเถื่อนให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า กรมฯ ได้แต่งตั้งทีมเจ้าหน้าที่หน่วยสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ ทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลและหาหลักฐานการกระทำความผิดกฎหมายทางด้านปศุสัตว์ทางช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีมาตรการป้องกันการลักลอบ ณ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยาน ด้วยภารกิจสารวัตรบีเกิล รวมถึงมาตรการลักลอบ ณ ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือ ด้วยการเปิดตู้ตรวจสอบสินค้ำปศุสัตว์ 100% ที่ด่านขาเข้า ตลอดจนตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และลาดตระเวนตามแนวชายแดน ซึ่งจะมีการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด โดยดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับขบวนการผิดกฎหมาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ โดยมีบทลงโทษแรกคือเนื้อสุกรที่จับได้จะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด และคดีนี้เป็นคดีอาญามีโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินของศาล ส่วนกรณีห้องเย็นหากเคยขึ้นทะเบียนขอนำเข้าเนื้อสัตว์ไว้กับกรมฯและถูกตรวจพบการทำผิดกฎหมายเช่นนี้ กรมฯ จะทำการเพิกถอนใบอนุญาตด้วย
สำหรับผลการปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายในการลักลอบนําซากสุกร เข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จนถึงปีงบประมาณ 2566 (ล่าสุดวันที่ 1 กันยายน 2566) ทั้งในส่วนของเนื้อสุกร เครื่องใน และชิ้นส่วน รวม 238 คดี จำนวนรวม 1,142,487 กิโลกรัม มูลค่ารวม 190,426,840 บาท มีการทำลายของกลางแล้ว 202 คดี จำนวนรวม 1,049,920 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 175,216,249 บาท โดยกรมปศุสัตว์ ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมศุลกากร กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานชายแดน ร่วมกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และป้องกันเชื้ออหิวาต์แอฟริกาสุกร หรือ ASF ที่อาจปนเปื้อนมากับชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งชิ้นส่วนสุกรที่ลักลอบนำเข้า ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ อาจมีสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง หรือเชื้อโรคอื่นที่เป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ในประเด็นการลักลอบนำเข้าโค-กระบือมีชีวิต จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงชิ้นส่วนเนื้อโค-กระบือนั้น กรมปศุสัตว์ ก็มีมาตรการปราบปรามอย่างเข้มงวดและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมาโดยตลอด เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรจากขบวนการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง