รัฐบาล “เศรษฐา 1” เข้ากระทรวงกันเป็นที่เรียบร้อย รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนองนโยบายรัฐบาลทันทีด้วยการประกาศภาระกิจเร่งด่วน 3 เรื่องใหญ่ คือ แก้ปัญหาภัยแล้งจากผลกระทบจากเอลนิโญ แก้ปัญหาการทำประมง และเร่งปราบปรามด้านปศุสัตว์ การนำเข้าหมูเถื่อนและเนื้อวัวผิดกฎหมาย พร้อมย้ำให้ดำเนินการให้เห็นผลภายใน 1-2 เดือน โดยเฉพาะเรื่องการปราบปราม “หมูเถื่อน” ดูจะเรียกเสียงสนับสนุนจากผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศได้ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย-รายเล็ก รัฐบาลใหม่ชุดนี้เรียกได้ว่า คือ ความหวังที่จะ “ชุบชีวิต” ให้ราคาหมูหน้าฟาร์มสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ เพื่อลดภาระขาดทุนสะสม ก่อนไปต่อไม่ไหวต้องทิ้งอาชีพเดียวที่เป็นมรดกตกทอดมา
1 ปีที่ผ่านมา จากผลผลิตหมูที่หายไปมากกว่า 50% เพราะโรคระบาด ASF “หมูเถื่อน” ถือเป็น “ผู้ร้าย” ที่เข้ามาปล้นผู้เลี้ยงหมูไทยที่ควรได้รับประโยชน์จากราคาในประเทศที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ให้สมกับความเหนื่อยยากที่ต้องเลี้ยงหมูขุนไม่ต่างจากลูกให้ปลอดโรค อีกทั้งหมูเถื่อนยังเป็นตัวการสำคัญที่ตัดราคาหมูไทย ทำให้กลไกราคาบิดเบือนจากหมูต้นทุนต่ำจากประเทศต้นทางเฉลี่ย 40-50 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับไทยที่สูงเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัม ย่อมแข่งขันกันยาก เพราะหมูไทยเผชิญปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่สูงขึ้นมากกว่า 30% จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงต้นทุนพลังงาน และปัจจัยการป้องกันโรค
แม้วันนี้ ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคระบาด ASF ให้อยู่ในวงจำกัดได้ ผลผลิตของเกษตรกรที่นำหมูเข้าเลี้ยงและดูแลอย่างดีตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาเริ่มทยอยออกสู่ตลาดต่อเนื่อง จนคาดว่าผลผลิตในปี 2566 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ 18.5 ล้านตัว เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ แต่สิ่งที่ไม่ปกติ คือ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ตกต่ำต่อเนื่องสวนทางกับต้นทุน โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศต้นทุนการเลี้ยงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ไว้ที่ 80.79 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายจริงเฉลี่ยทั่วประเทศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 อยู่ที่ 62-72 บาทต่อกิโลกรัม (อ่อนตัวลง 2 บาทต่อกิโลกรัมเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรขาดทุนสะสมมานานกว่า 7 เดือนแล้ว เกษตรกรต้องดิ้นรนหลายรูปแบบเพื่อให้อยู่รอด ทั้งจับหมูขุนขนาดเล็กขายเป็นหมูหัน หรือ ขายหมูตามขนาดหมูย่างเมืองตรัง หรือ ปลดแม่พันธุ์เพื่อลดปริมาณหมูขุน
ที่ผ่านมา การปราบปราม “หมูเถื่อน” อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีการจับกุมอย่างจริงจังและถี่มากขึ้นเกิดขึ้นช่วงไตรมาส 3 ของปีที่ 2565 จนถึงปัจจุบันได้ของกลางน้ำหนักรวมมากกว่า 6,000 ตัน (ประมาณ 240 ตู้คอนเทนเนอร์) มูลค่าประมาณ 700-800 ล้านบาท (เฉพาะมูลค่าสินค้า) โดยล็อตใหญ่สุดที่จับกุมได้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 161 ตู้ พบของกลางจำนวน 4.5 พันตัน จากความร่วมมือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ชัดว่าหมูเถื่อนมีการระบาดหนักในไทย จนถึงวันนี้ผู้เลี้ยงหมูก็ยังไม่มั่นใจว่าหมูเถื่อนหมดไปจากประเทศไทย
ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศและสังคม ยังคงจับตาการทำงานของภาครัฐในการปราบปรามหมูเถื่อน โดยเฉพาะการส่งไม้ต่อให้กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ว่า จะสามารถ “กระตุก” กระทรวงที่เกี่ยวข้อง จี้กรม-กองในสังกัด ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ให้ทำงานแบบบูรณาการ วางแผนร่วมกันอย่างแยบยล ปิดทางหนีทีไล่ของพวกมิจฉาชีพให้หมด อย่าให้ซ้ำรอยเดิมเช่นที่ผ่านมาด้วยการปล่อยให้มีการสำแดงเท็จ เป็นโพลีเมอร์ และอาหารทะเลแช่แข็ง ตรวจและจับกุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทั้งที่ระบบนำเข้า-ส่งออกสินค้า มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการตรวจสอบเอกสารและเอ็กซเรย์สินค้าที่ท่าเรือ ที่สำคัญล่วงเลยมา 1 ปี ยังไม่สามารถจับกุมผู้สั่งนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายตัวจริงได้แม้แต่รายเดียว
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย ฝากความหวังเดียวไว้กับรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ที่เจ้ากระทรวงสั่งการเด็ดขาดแล้วว่า “หมูเถื่อน” ต้องอวสานภายใน 1-2 เดือน และต้องจับคนผิดมาดำเนินคดี เพื่อบำบัดทุกข์เกษตรกรและยกระดับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง คงต้องติดตามการทำงานรัฐบาลใหม่ว่าจะร้อนแรงและแก้ปัญหาจริงจังช่วย “ชุบชีวิต” ผู้เลี้ยงหมูไทยกว่า 150,000 ราย ได้ดังปากว่าหรือไม่