ประชาธิปัตย์ฮึดไม่ขึ้น หลัง “จุรินทร์” ออกโรงซัดรัฐบาลไม่จริงใจยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้อนอดีตปชป.ลืมมองใครเป็นต้นเหตุ ให้เพื่อไทย-ก้าวไกลบินสูง ชนะเลือกตั้ง

ส่องบทบาทประชาธิปัตย์ฮึดไม่ขึ้นหลัง “จุรินทร์” ออกโรงซัดรัฐบาลไม่จริงใจยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมย้อนอดีต ปชป.ลืมมองใครเป็นต้นเหตุให้เพื่อไทย-ก้าวไกลบินสูงชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่ตนเองแทบสูญพันธุ์ ซัด ปชป.ใช่หรือไม่เป็นหัวหอกยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ

การออกมาเดินหน้าสับแหลกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กรณีออกมาเตือนความจำรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องทำเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลจะโยนให้เป็นเรื่องสภาไม่ได้ โดยเฉพาะการมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางจัดทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมองว่าเป็นการยื้อเวลา

 

น่าสนใจยิ่งนักกับการจงใจโยนระเบิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญใส่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมโอ่ประโคมว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่แตะ หมวด 1 หมวด 2 แต่นายจุรินทร์ อาจหลงลืมอดีตไปว่า ตนเองและพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนในการทำให้เกิดความหายนะทางการเมือง โดยเฉพาะการเป็นหัวหอกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมาเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ โดนทึกทักไปเองว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่หากเปลี่ยนกฎเกณฑ์มาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบน่าได้ สส.เป็นกอบเป็นกำมากกว่าจะไปพึ่งคะแนนจาก สส.ปัดเศษจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ ว่ากันว่าเกิดจากการสมยอมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐที่ตอนนั้นมีกระแสข่าวว่า หากมีการผลักดันสำเร็จพรรคเพื่อไทยจะเปิดทางให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าจากดีลลับระหว่างลุงป้อมกับนายทักษิณ ซึ่งตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะมองออกว่าเป็นการหลงเหลี่ยมเพื่อไทยจากกติกาบัตรสองใบที่เอื้อประโยชน์กับพรรคใหญ่มากกว่า แต่สุดท้ายต้องจำใจยอมทำตามพี่ใหญ่

แต่ที่น่าสนใจคือ นายจุรินทร์ และพรรคประชาธิปัตย์กลับร่วมวงด้วย โดยเป็นเจ้าของร่างยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 81 มาตรา 93 ให้มีบทบัญญัติชัดเจนว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องเป็นระบบบัตรสองใบคือระบบบัญชีรายชื่อ 100 คนและแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 400 คน ซึ่งในตอนนั้นประชาธิปัตย์อ้างว่า เป้าหมายหลักของการแก้ไขเพียงประเด็นเดียว คือ การรื้อระบบเลือกตั้ง สส. โดยให้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วหวนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540

ข่าวที่น่าสนใจ

จากนั้นในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 472 ต่อ 33 งดออกเสียง 187 สนับสนุนการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ นั่นทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา กระทั่งในวันที่ 21 พ.ย. 64 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 เพื่อประกาศให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบแทนการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว

 

สำหรับสาระของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 มีเนื้อหาสำคัญดังนี้ มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 150 คน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง

ดังนั้นหากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 400 คน ก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564

 

ภายหลังการประกาศใช้ รธน.ฉบับแก้ไขดังกล่าว นายจุรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขหรือฉบับใหม่นี้ ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียวนั้น ต้องเอาคนกับพรรคมามัดรวมกัน ประชาชนไม่สามารถแยกได้ว่าต้องการเลือกคนแต่ไม่เลือกพรรค หรือเลือกพรรคแต่ไม่เลือกคน

ผลพวงการหลับหูหลับตาของประชาธิปัตย์ทำให้ทุกอย่างไปเข้าทางพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย โดยเฉพาะข้อจำกัดในเรื่อง สส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ก่อนหน้านี้หากเป็นการใช้บัตรใบเดียว พรรคที่ได้ สส.เขตเกินกว่าได้ สส.พึงมีก็จะไม่ได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงทำให้พรรคขนาดกลาง และขนาดเล็กอยู่ในฐานะได้เปรียบพรรคเพื่อไทย

 

อย่างไรก็ตามเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระบบบัตรสองใบ แยกกันชัดเจน ระหว่างการลงคะแนนให้กับ สส.เขต และอีกใบ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งกติกาใหม่เอื้อประโยชน์กับเพื่อไทยอย่างมาก จึงทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก้าวไกล และเพื่อไทยได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐได้สส.ปาร์ตีลิสต์เพียงหยิบมือ ส่วนประชาธิปัตย์ได้มาแค่ 3 เก้าอี้เท่านั้น และนี่คือบทเรียนอันเจ็บแสบของนายจุรินทร์ และพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงทุกวันนี้…?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น