เกษตรกรภาคปศุสัตว์ ทั้งหมู ไก่ไข่ เรียกร้องกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาระงับคำสั่งลดราคาสินค้าอาหารภายใน 15 วัน ขออย่าซ้ำเติมผู้เลี้ยงเพราะทุกวันนี้เป็นราคาที่ขายขาดทุน ย้ำราคาพลังงานลดลงเป็นต้นทุนส่วนน้อย ขอช่วยต่อลมหายใจเร่งแก้ปัญหาใหญ่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงเป็นการด่วน ใช้กลไกตลาดทำงานดีกว่าบิดเบือนราคา
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ชะลอคำสั่งการให้ลดราคาสินค้าทั้ง หมู ไก่ ไข่ ออกไปก่อน และศึกษาต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของภาคปศุสัตว์ก่อนตัดสินใจ เนื่องเกษตรกรผู้เลี้ยงแบกภาระขาดทุนมานานหลายเดือน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูต้องแบกภาระหนี้ตั้งแต่ต้นปีมานานกว่า 8 เดือน จากต้นทุนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นมากกว่า 30% ซึ่งเป็นผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มโดน “หมูเถื่อน” ดัมพ์ราคาทำให้เสียหายมาตั้งแต่ต้นปี 2566 เช่นกัน
“เกษตรกรต้องใช้เวลาเลี้ยงหมูนาน 5 เดือน แต่ต้องแบกภาระขาดทุนตัวละประมาณ 3,000 บาท มานานกว่า 8 เดือน เป็นเรื่องไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร” นายสิทธิพันธ์ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 100 คน เพิ่งเข้าพบร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐนมตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยฯ วันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อขอให้กระทรวงฯ ช่วยเหลือชดเชยผู้เลี้ยงหมูจากการขายในราคาขาดทุนตัวละ 3,000 บาท จนต้องบริหารจัดการจับหมูขนาดเล็ก 3-6 กิโลกรัม เพื่อนำไปทำหมูหัน ลดซัพพลายหมูที่จะออกสู่ตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ โดยขอให้รัฐบาลชดเชยตัวละ 400 บาท เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนไปใช้ในการดำเนินจัดการฟาร์ม
“ต้นทุนพลังงานที่ลดลง ส่งผลกระทบเชิงบวกกับผู้เลี้ยงหมูเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะต้นทุน 60-70% เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดูแล แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว มีเพียงมาตรการชั่วคราว และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรต้องดิ้นรนให้ธุรกิจอยู่รอด ขาดทุนสะสมยังไม่มีใครช่วย กลับถูกซ้ำเติมต้องมาลดราคา เกษตรกรไม่มีอากาศจะหายใจแล้ว” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายสิทธิพันธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรหลายรูปแบบ เช่น ผู้ปลูกข้าวโพด ได้รับการประกันรายได้ แต่ผู้เลี้ยงหมูไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเลย ซ้ำรายยังเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ การสั่งให้ลดราคาทั้งที่ขาดทุนจึงไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ควรทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับภาคการผลิตและภาระของผู้ผลิตด้วย
ด้าน นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไม่ต่างจากผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ต้องประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงตั้งแต่ปลายปี 2564 และหนักที่สุดปี 2565 จากผลของสงคราม ต้นทุนไข่ไก่สูงขึ้นต่อเนื่องช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 บาทต่อฟอง ขณะที่ไข่คละหน้าฟาร์มเพิ่งปรับขึ้นเป็น 4 บาทต่อฟอง เมื่อเดือนกรกฎาคมและยืนราคามาจนถึงขณะนี้ เห็นได้ว่าราคาต้นทุนและราคาขายปริ่มกันมาก บางช่วงต้องขายขาดทุน เช่น ช่วงเทศกาลกินเจและปิดเทอมที่กำลังจะมาถึงในเดือนตุลาคมนี้ ความต้องการไข่ไก่น้อยลง ราคาลดลงตามกลไกตลาดรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสั่งให้ลดราคา
“ข้อเท็จจริง คือ เกษตรกรไม่สามารถขายไข่ได้เต็มราคาหน้าฟาร์มทั้งหมด ตอนนี้ราคาหมู ไก่ก็ตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่กำลังลืมตาอ้าปากได้ ขอให้ท่านรัฐมนตรีเห็นใจพวกเรา ขอให้รัฐบาลทำหน้าที่กำกับดูแลให้กลไกตลาดทำงาน และพิจารณาให้ราคาเป็นธรรมกับเกษตรกรด้วย เพราะการลดราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดของเกษตรกร” นางพเยาว์ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงเป็นวาระเร่งด่วนตามที่รัฐบาลชุดนี้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาหากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนของเกษตรกร ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ควรมองจากต้นทุนเพียงตัวเดียวเท่านั้น