ติดตามการแก้ไขปัญหาด้านการประมง หลังรัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และกลับมาเป็นจ้าวสมุทร(ภายใต้กรอบ IUU) และเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลกอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน พร้อมเดินเครื่องเต็มสูบภายใน 3-6 เดือน เร่งแก้กฎหมายย่อย เยียวยาเรือประมง เจรจาแนวทางการทำประมงนอกน่านน้ำกับต่างประเทศ
ทีมข่าว TOPNEWS ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์พิเศษ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญการประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง จากกรรมการทั้งหมด 22 ราย ที่สะพานปลาสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
ทิศทางอุตสาหกรรมประมงไทย
นายวิชาญ เปิดเผยว่า ขอบคุณรัฐบาลมีความตั้งใจและสนใจในการแก้ไขปัญหาประมง และปัญหาของพี่น้องชาวประมง ที่มีมาตลอด 8 ปีเศษ ที่มี IUU โดยการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลฯ ซึ่งมีการประชุมนัดแรก เมื่อวันวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ นั้น ทำให้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมประมงไทย โดยรัฐบาลพยายาม ปักธงว่า จะทำอย่างไรให้ปัญหาประมงได้รับการแก้ไข มีเป้าหมายในการทำงาน 6 ข้อ
1. ไม่ใช่การทะเลาะหรือขัดแย้งกับ EU ซึ่งเป็นคู่ค้า โดยจะดูว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร
2. ระยะยาวมุ่งการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน จากปัญหาทรัพยากรที่ลดลงเรื่อย ๆ จะเห็นว่า ปี 57 ก่อนที่ EU จะเข้ามา มีการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย 1.5 ล้านตัน และล่าสุดปี 65 ลดลงมาอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน
3. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของไทยและต่างประเทศ โดยตั้งแต่ปี 58 ที่ไทยได้รับใบเหลือง จาก EU มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นผู้นำเข้าสุทธิ สะท้อนว่าความมั่นคงทางอาหารลดลง
4. ลดผลกระทบที่สร้างความเสียหายของอุตสาหกรรมประมงและชาวประมงไทย จากสาเหตุที่จับปลาได้ลดลงทั้งในและนอกน่านน้ำ ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่ต้องปิดตัว เมื่อเจอปัญหาไม่มีวัตถุดิบ
5. รักษาขนบธรรมเนียมการประมงพื้นบ้าน ที่มีรายได้น้อย เมื่อเทียบกับประมงพาณิชย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า
6. นำคืนประเทศไทยสู่การเป็นจ้าวสมุทรตามเดิม ฟื้นฟูอุตสาหกรรมทั้งการประมง การแปรรูป กลับมาเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลก ไทยเคยเป็นที่ 1 ในเรื่องส่งออกอาหารทะเล และเคยเป็นที่ 7 ของโลกเรื่องการประมง โดยมีกรอบอนุสัญญาต่างๆ และกติการะหว่างประเทศ อาทิ IUU , กฎหมายทางทะเล ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.66 มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมา 6 คณะ ประกอบด้วย
– คณะอนุกรรมการที่ 1 ดำเนินการ เรื่อง ปรับแก้พระราชกำหนดการประมง โดยดำเนินการควบคู่กับ รัฐสภา และสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ และคณะรัฐมนตรี
– คณะอนุกรรมการที่ 2 ดำเนินการ เรื่อง ปรับแก้กฎระเบียบของทางราชการที่กระทบ กับการพัฒนาการประมงไทย ซึ่งกรมประมงและสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ ต้องเร่งให้เร็วขึ้นกว่าการแก้พระราชกำหนดการประมง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ต้องใช้เวลา
– คณะอนุกรรมการที่ 3 ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศ โดยศึกษาประมวลกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการของต่างประเทศที่กระทบ โดยเฉพาะมาตรการ IUU Fishing ของ FAO ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาของประเทศอื่น และจัดตั้งทีมการเจรจาต่างประเทศ เพื่อฟื้นประมงนอกน่านน้ำ
– คณะอนุกรรมการที่ 4 จัดระเบียบการประมงทะเลและการฟื้นฟูทะเลและอุตสาหกรรม ต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการอนุรักษ์และควบคุมบริหาร มาตรการฟื้นฟู และมาตรการแบ่งปันการทำประมงระหว่าง ประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์
– คณะอนุกรรมการที่ 5 ช่วยเหลือ ชดเชยความเสียหาย และการซื้อเรือและการซ่อมเรือ ของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา
– คณะอนุกรรมการที่ 6 ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service ในการอนุญาตต่าง ๆ ในธุรกิจการประมง
นายวิชาญ ระบุว่า คณะอนุกรรมการ 2 คณะแรก เป็นคณะกฎหมาย โดยคณะที่หนึ่ง ดูแลกฎหมายหลัก ระดับพ.ร.บ.และพรก. จะทำอย่างไรกับกฎหมายที่มีข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรรม หรือโทษที่รุนแรงให้เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนคณะที่ 2 ดูแลกฎหมายระดับอนุบัญญัติ เช่น กฎหมายย่อยภายใต้กฎหมายประมง แรงงาน เรือ “โดยรวม ก็เห็นทิศทางว่า เราพยายามจะฟื้นฟูการประมงของไทย ไม่ได้มุ่งหวังจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนสมัยก่อน IUU แต่เราจะรุ่งเรืองภายใต้กรอบ IUU ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ที่มีโอกาสจะทำได้”
ทั้งนี้ EU ได้ออก”ใบเหลือง” ให้กับไทย เมื่อวันที่ 21 เม.ย.58 จากปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ( IUU ) ทำให้รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงอย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำประมง แรงงานประมง โดยได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ประกาศว่าได้ ยกเลิกสถานะใบเหลืองของประเทศไทยแล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของเรือที่จอดอยู่ อาจมีการพิจารณาใหม่ว่า แทนที่จะมาขายให้ภาครัฐ แล้วไปตัดทิ้งเป็นเศษไม้ เศษเหล็ก อาจนำมาใช้ประโยชน์นอกน่านน้ำ สามารถนำไปทำประมงภายใต้กฎหมายรัฐชายฝั่งได้ หรือจมเป็นปะการัง ได้