วันที่ 18 ต.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและภารกิจอพยพคนไทย ว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์สำคัญโจมตีโรงพยาบาลที่ฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายมนุษย์ธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ทั้งนี้ รัฐบาลขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอีกไม่นานรัฐบาลไทยจะมีแถลงการณ์จุดยืน
ข่าวที่น่าสนใจ
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบต่อคนไทยนั้น มีผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 30 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ16 คน และผู้ถูกจับ 17 คนไม่เปลี่ยนแปลง ยอดผู้ประสงค์กลับไทย 8,160 คน ไม่ขอกลับ 110 คน สำหรับสถิติคนไทยที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว 7 เที่ยวบิน 926 คน และกลับเองจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าของวันที่ 18 ต.ค. มีเครื่องบินของกองทัพอากาศบินไปยังกรุงเทลอาวีฟ เพื่อรับคนไทยกลับมา โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 13.40 น. จำนวน 145 คน และยังมีสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ อีก 80 คน นอกจากนั้น สถานทูตยังจัดโรงแรมให้เป็นศูนย์พักพิงแก่คนไทยในอิสราเอล รวม 7 แห่ง โดยมีผู้เข้าพักแล้ว 593 คน เพื่อเตรียมพร้อมขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ทางการไทยพยายามจัดเที่ยวบินทุกวัน และยังคงตั้งเป้าหมายขนคนไทยกลับบ้านให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 คน และมีแผนจะลำเลียงคนไทยพักรอที่จุดที่สาม คือ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ ถึงดูไบ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ สาเหตุเพราะเราจะจ้างเหมาเครื่องบินขนาดใหญ่ที่บรรจุคนได้เป็นจำนวนมากบินออกจากเทลอาวีฟไปดูไบ และจากกรุงเทพไปดูไบก็มีหลายสายการบินแล้ว ตั้งแต่เครื่องบินทอ. การบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์ และไลอ้อนแอร์ แผนนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. เป็นต้นไป
สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไทยบินอ้อมไปรับคนไทยในอิสราเอล จนเสียเวลา 3-4 ชั่วโมง ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้เวลาน้อยกว่านั้น ขอทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้ขอบินผ่านประเทศที่จะมีความเสี่ยงว่าอาจไม่ได้รับอนุญาต หรืออาจจจะอนุญาตแต่ล่าช้า เหล่านี้เราไม่ได้ขอ เพราะคิดว่าการเสียเวลาอ้อม 3-4 ชั่วโมงดีกว่าที่จะต้องไปขออนุญาต เช่น ต้องไปขอประเทศที่ปกติไม่อนุญาตให้ปิดไปปลายทางอิสราเอล เราก็จะต้องขออนุญาตหลายประเทศ ขอในสิ่งที่ต้องขอกรณีพิเศษ ซึ่งปกติต้องใช้เวลา ฉะนั้น เพื่อความชัวร์เราจึงขอกับประเทศที่อนุญาตแน่นอนดีกว่า
“เราไม่ได้ขอเพราะอยากให้มันเร็ว เราไม่อยากเสี่ยงเพราะความล่าช้า บางคนอาจจะบอกว่าประเทศอื่นยังบินได้ ก็แล้วแต่ บางประเทศก็มีความตกลงกัน และความจริงถ้าเราขออนุญาต ในห้วงภาวะสงคราม สถานการณ์มนุษยธรรม เราอาจจะได้ก็ได้ แต่เราไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากรอ นักบินบินอ้อม 3-4 ชั่วโมงไม่ได้เป็นประเด็น”
นางกาญจนา กล่าวด้วยว่า บางคนอาจคิดว่าเวลาที่เสียไป 3-4 ชั่วโมง อาจทำให้ได้เที่ยวบินกลับประเทศเพิ่มนั้น เรียนว่าเที่ยวบินที่เตรียมไว้มีจำนวนมาก แต่ยอดผู้ลงทะเบียนน้อยกว่าคนที่มาขึ้นเครื่องจริงๆ ซึ่งก็มีสาเหตุความจำเป็นหลายอย่างที่ทำให้ตัวเลขไม่ตรงกัน ปัญหาคือพี่น้องคนไทยในพื้นที่เดินทางมาสนามบินอย่างไร แต่เราก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาของเรา ไม่ว่าคนไทยเหล่านั้นจะลงทะเบียนแสดงความประสงค์กลับไทยหรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้เดินทางมายังศูนย์พักพิงที่ทางสถานทูตเตรียมไว้ให้ก่อน
ส่วนประชาชนบางส่วนที่ยังเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า ขอให้ติดตามมาตรการต่างๆ ของท้องถิ่นว่าเตือนอย่างไร ทั้งระดับความปลอดภัย และการแจ้งเตือนเรื่องการก่อการร้าย ขอให้ติดตามเฟสบุคสถานทูตและสถานกงสุล นอกจากนั้น เราได้รับทราบว่ายังมีคนเดินทางไปยังเยรูซาเลม ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ พื้นที่มีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยอขอให้พิจารณางดเว้นไว้ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-