อ.เมือง จ.ตราด/ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ต.หนองโสน อ.เมือง จ.ตราด นางวันวิสาห์ สระนวลจันทร์ อายุ 49 ปี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และพืชไร่ที่ทำสวนอยู่บริเวณใกล้กับพระจมน้ำหรือพระภูวดลศิริมงคลชัย ซึ่งมีสวนทุเรียนที่ปลูกอยู่ริมอ่างเก็บน้ำจำนวนกว่า 20 ไร่ และมีต้นทุเรียนที่ปลูกไว้อายุ 1-2 ปี จำนวน
4-500 ต้น กำลังตัดต้นหญ้าที่ปกคลุมพืชไร่ทั้งแตงกวา และถั่วฝักยาว ที่ปลูกแซมระหว่างต้นทุเรียนไว้ ซึ่งระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เมตรและระดับน้ำสูงท่วมบริเวณหน้าอกเหนือราวนมของพระจมน้ำแล้ว ทำให้ระดับน้ำสูงมาท่วมพื้นที่ปลูกทุเรียนบางส่วนและเสาเรือนบ้านพักชั่วคราวสูงกว่า 50 ซม.
นางวันวิสาห์ เปิดเผยว่า ระดับน้ำที่สูงขึ้นถึงระดับหน้าอกของพระจมน้ำนั้น สะท้อนถึงระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำที่เพิ่มขึ้นมาจนถีงระดับที่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนทุเรียนที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากในช่วงออกดอกผลและในช่วงที่ต้องการความเติบโต ซึ่งรู้สึกพอใจ เนื่องจากที่ผ่านมาก็เป็นห่วงเนื่อจากระดับน้ำในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมาฝนตกน้อย และมีแนวโน้มน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำจะสูงไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา แต่วันนี้รู้สึกพอใจ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่นอกชลประทานตราดอาจจะมีปัญหาบ้าง
ด้านนายธำรงศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดตราดเปิดเผยว่า ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 7 แห่ง ทีทกระจายไปในอำเภอต่างๆ รวมทั้งประตูน้ำที่มีอยู่โครงการชลประทานตราดเก็บน้ำไว้ได้ 100 % ซึ่งส่งผลดีต่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนและชาวนาทีทจะต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมในราวกลางเดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นไป โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขาระกำซึ่ง 2 เดือนที่แล้วระดับน้ำมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันน้ำเต็มความจุแล้ว ซึ่งพระจมน้ำก็มีระดับน้ำสูงสุดตามที่ได้เก็บกักแล้ว อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่นอกชลประทานแนะให้เกษตรกรได้เก็บกักน้ำไว้รอ
รับไว้ล่วงหน้า เนื่องจากอาจจะเกิดการขาดแคลนได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 หากฝนทิ้งช่วง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ระดับน้ำที่บริเวณพระจมน้ำมีระดับอยู่ที่ระดับหัวเข่าขององค์พระจมน้ำ แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำสูงขึ้นเหนือหน้าอกองค์พระจมน้ำ ซึ่งความจุของอ่างเก็บน้ำเขาระกำที่เพิ่มขึ้นใหม่นั้น มีความจุจำนวน 47.685 ล้านลบ.ม.ซึ่งจะสามารถทำให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน 3 ตำบล คือ ต.หนองโสน ต.หนองเสม็ด ต.หนองคันทรง ที่ปลูกข้าวและปลูกทุเรียนเป็นหลักจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่นอกพื้นที่ชลประทานตราดอาจจะได้รับผลกระทบ ขณะที่การประปาตราดที่ใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบด้วย