รัฐบาลตั้ง “สุริยะ” นั่งปธ.บอร์ดติดตามแก้ปัญหาการบินไทย ทั้งที่เคยถูกป.ป.ช.สอบคดีจัดซื้อแอร์บัส 10 ลำ

รัฐบาลตั้ง “สุริยะ” นั่งปธ.บอร์ดติดตามแก้ปัญหาการบินไทย ทั้งที่เคยถูกป.ป.ช.สอบคดีจัดซื้อแอร์บัส 10 ลำ

จากกรณีวานนี้ที่ประชุมครม. มีมติ รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 285/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีทั้งหมด 13 คน มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั่งเป็นประธาน และยังมีนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความตระกูลชินวัตร เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย

ข่าวที่น่าสนใจ

ซึ่งการที่นายสุริยะได้รับมอบหมายให้เป็นประธานในการสานต่อการฟื้นฟูการบินไทยในครั้งนี้ ได้ถูกวิจารณ์มากพอสมควร เพราะนายสุริยะเองเพิ่งจะพ้นมลทินเรื่องฉาวเกี่ยวกับการบินไทยมาไม่นาน และต้องบอกว่านายสุริยะรอดแบบสร้างความเคลือบแคลใจให้หลายฝ่าย ซึ่งนั่นก็คือคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 ทำให้บริษัทการบินไทยได้รับความเสียหาย และการจัดซื้อครั้งนี้ถูกยกให้เป็นต้นเหตุที่ทำให้การบินไทยประสบปัญหาขาดทุน โดยเครื่องบินแอร์บัสทั้ง 10 ลำ ที่จัดซื้อในช่วงปี 2546-2547 นั้น เป็นยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และนายสุริยะเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามเสนอเรื่องจัดซื้อเข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยล็อตแรก ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ให้การบินไทยจัดซื้อ 8 ลำ ล็อตที่สอง ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 ให้การบินไทยจัดซื้ออีก 2 ลำ เครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว เริ่มทำการบินตั้งแต่เดือน กรกฏาคม 2548 ถึง 7 มกราคม 2556 ในเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ,กรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และเส้นทางอื่นๆ รวม 51 เส้นทาง แต่ประสบปัญหาขาดทุนในทุกเส้นทางที่ทำการบินไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีการใช้งานไม่คุ้มค่า ใช้งานได้เพียง 6-10 ปี ต่ำกว่าอายุการใช้งานเครื่องบินโดยทั่วไปที่กำหนดไว้ 20 ปี ปัจจุบันเครื่องบินดังกล่าวได้ปลดระวางแล้ว อยู่ระหว่างการจอดรอจำหน่าย ทำให้การบินไทย ขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 22,943.97 ล้านบาท เมื่อนำผลขาดทุนจากการจัดซื้อและการบริหารจัดการเครื่องบินแอร์บัสทั้ง 10 ลำ มารวมกัน ทำให้การบินไทย ประสบภาวะการขาดทุนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท

โดยในเดือนกันยายน 2564 ป.ป.ช.ได้มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนในเรื่องนี้ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกตั้งไต่สวนคือ นายทักษิณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ,นายสุริยะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ,นายพิเชษฐ สถิรชวาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ,นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย แต่ทว่าในการพิจารณาขององค์คณะไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ป.ป.ช.กลับมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาเพียงนายทักษิณ ,นายพิเชษฐ ,นายทนง และนายกนก ส่วนนายสุริยะรอด โดยให้เหตุผลว่า การอนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส จำนวน 10 ลำดังกล่าวนั้น นายสุริยะไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแลการบินไทย แต่เป็นนายพิเชษฐในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการบินไทย

ซึ่งในเวลานั้นนายพิเชษฐถึงกับให้สัมภาษณ์ด้วยความมึนงงที่นายสุริยะรอด เพราะอำนาจในการจัดซื้อเป็นของบอร์ดการบินไทย จากนั้นจะเสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม และคนที่จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น คือ นายสุริยะ อย่างไรก็ตามต่อมาในเดือนกรกฏาคม 2556 ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้มีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้อง ทำให้ นายทักษิณ นายทะนง นายพิเชษฐ และนายกนก พ้นข้อกล่าวหายกล็อตตามนายสุริยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น