นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลขึ่ง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยการติดและแพร่ระบาดครั้งนี้มาจากผู้ดูแลเด็ก เบื้องต้นพบเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงกว่า 70 คน พบผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กจำนวน 11 คน อายุต่ำสุด 4 เดือนนั้น จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเคยเกิดการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อนเช่นนี้มาก่อน และกลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังหลังพบแนวโน้มระบาดในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) พบเด็กติดเชื้อตั้งแต่ 1 เมษายน – 14 สิงหาคม 2564 จำนวน 26,513 คน เป็นคนไทย 22,982 คน ต่างชาติ 3,531 คน เสียชีวิตสะสม 5 คน และจากข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2564 พบจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น5,298 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.7 เป็นคนไทย 4,773 คน ต่างชาติ 525 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 4 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน คิดเป็นร้อยละ 33 ส่งผลให้มียอดรวมเด็กติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2564 จำนวน 31,811 คน เป็นคนไทย 27,755 คน ต่างชาติ 4,056 คน เสียชีวิตรวม 9 คน โดยกรุงเทพมหานครพบมีการติดเชื้อสูงสุด 5,806 คน รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรสาคร 2,324 คน และ จังหวัดชลบุรี 1,993 คน สาเหตุที่ติดเชื้อมากที่สุดคือสัมผัสกับคนใกล้ชิดที่เป็นผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด 18,807 คน
นายแพทย์สุวรรณชัย ระบุว่า การติดและแพร่เชื้อในเด็กเล็กที่ผ่านมามักไม่ต่างไปจากการติดเชื้อในผู้ใหญ่ แต่เด็กอาจจะมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก เบาหวาน หอบหืด หัวใจพิการแต่กำเนิด หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาทในบางรายส่งผลให้อันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยที่ยังเปิดให้บริการอยู่เข้าประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus พร้อมยกระดับการคุมเข้มขั้นสูงสุดโดยมีการทำความสะอาดสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ จุดสัมผัสต่าง ๆ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้รับส่งให้สะอาด ปลอดภัย มีการกำหนดจุดรับ-ส่งเข้าออกเฉพาะจุดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาบริเวณพื้นที่ภายในของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย มีการกำหนด จุดคัดกรอง วัดไข้ จุดล้างมือ ล้างเท้าชัดเจน ด้านครูผู้ดูแลเด็กจะต้องสังเกตอาการตนเองหรือคนใกล้ชิดอยู่เสมอ หากมีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้หยุดงานทันที รวมทั้งควรเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง สวมหน้ากากอนามัย
ส่วนการจัดกิจกรรมควรให้เด็กอยู่ภายในกลุ่มตัวเองหรือแยกเป็นรายบุคคล ไม่ให้ข้ามกลุ่มไปมา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค รวมทั้งการกินอาหารและการนอน ต้องเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หรือมีฉากกั้นระหว่างบุคคล และหากพบว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องยกระดับการป้องกันโควิด-19 ด้วยการคัดกรองครูผู้ดูแลเด็กด้วยการตรวจ ATK
“ด้านพ่อแม่ ผู้ปกครอง เมื่อมารับเด็กกลับบ้าน ไม่ควรแวะตามสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ ขอให้รีบกลับบ้าน และให้เด็กอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเมื่อถึงบ้าน อีกทั้งเพื่อเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่ครอบครัว ขณะอยู่บ้านขอให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติ ดังนี้ 1) เว้นระยะห่างระหว่างกัน จำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่มีคนหนาแน่น 2) สวมหน้า กากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลให้เด็กกินอาหารผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลาการกิน 3) หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และ 4) ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูกหายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อควรตรวจและคัดกรองตนเองด้วย ATK เช่นกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว