น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา – Nuttaa Mahattana” โดยระบุว่า ” วิเคราะห์เหตุผลทีผู้ถูกร้องในพรรคก้าวไกลใช้ในการต่อสู้ และเหตุผลที่พรรคใช้ในการลงโทษ จากข้อมูลเท่าที่มี พร้อมบทสรุปปัญหาในกระบวนการที่เกิดขึ้น” Sexual Harassment หรือภาษาไทยคือ การคุกคามทางเพศ หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกในทางเพศ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ “ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำนั้น รู้สึกเดือดร้อนรำคาญ อึดอัด ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย”
พฤติกรรมการคุกคามทางเพศสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบหลัก ดังนี้
1.การคุกคามด้วยคำพูดที่ไม่สมควร เช่น การพูดเกี่ยวกับเพศ เล่นตลกเกี่ยวกับเพศ ชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย หรือพูดในลักษณะสองแง่สองง่ามในเรื่องเพศ
2.การคุกคามทางสายตา เช่น การจ้องมองไปยังบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
3.การคุกคามทางร่างกาย เช่น การสัมผัสร่างกาย แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบเอว จับมือ จับขา เป็นต้น
4.การคุกคามโดยส่งข้อความ ผ่านจดหมายหรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การเขียนจดหมาย หรือส่งข้อความลามก ตลอดจนการส่งภาพ/คลิปลามก หรือภาพอวัยวะเพศให้กับเหยื่อ
5.การแอบถ่ายภาพ/คลิป ของเหยื่อในลักษณะลามก ตามสถานที่ต่างๆ
การคุกคามทางเพศนั้น “ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะรู้สึกอึดอัดกับเรื่องดังกล่าว หรืออยู่ในฐานะที่ไม่อาจขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงได้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของบุคคลดังกล่าวเป็นอย่างมาก” อีกทั้งการกระทำดังที่กล่าวมา อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอีกด้วย
ข้างต้นเป็นนิยามที่ใช้ในการพิจารณาคดีตามคำอธิบายที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยให้ความรู้ต่อสังคมผ่านสื่อเมื่อกลางปีที่แล้ว