วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมฆาลัย, อินเดีย ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมสุรินทร์ ผู้ประสานงาน และประธานโครงการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย ได้นำคณะอาคันตุกะศิลปินนานาชาติ (International artist delegations) จำนวน 7 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ บัลกาเรีย เนปาล อินเดีย ฮังการี, อิตาลี และประเทศไทย จำนวน 110 คน เดินทางมาเข้าชมการแสดงช้างที่ศูนย์คชศึกษาจังหวัดสุรินทร์ (โลกของช้าง) ที่ ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ในรอบพิเศษ เวลา 11.00 น. โดยมี นายศิริศักดิ์ ร่วมพัฒนา รองนายก อบจ.สุรินทร์ เป็นตัวแทนให้การต้อนรับ พร้อมกับได้มอบรางวัลยอดเยี่ยม “ช้างทองคำ” ให้แก่ นายบุญมา แสนดี , หมอสะเดียงอาวุโส อายุ 99 ปี , นายประไพ โมกหอม ควาญช้างแฝดพลายทองคำ-ทองแท่ง และนายเหมา ทรัพย์มาก ควาญช้างหนุ่มเสก ที่เคยแสดงในภาพยนตร์เรื่ององบาก 2 เมื่อปี 2551 ด้วย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยัง วัดป่าอาเจียง บ้านหนองบัว ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
โดยมี ดร.พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง และคณะให้การต้อนรับ ซึ่งที่ผ่านมาทางมูลนิธิส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมสุรินทร์ และโครงการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมก็จะได้รับความอนุเคราะห์ และความร่วมมือเป็นอย่างดี จาก ดร.พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร ซึ่งวัดป่าอาเจียง นับเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องช้าง ศาสนา และวัฒนธรรม ทางมูลนิธิฯจึงได้ถวายรางวัลยอดเยี่ยมช้างทองคำแก่เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง ต่อจากนั้นผู้แทนอาคันตุกะศิลปินนานาชาติ ได้ร่วมดำเนินการในพิธีลงนามความเข้าใจ (MOU.) และความร่วมมือในอนาคตตามความเหมาะสมกับผู้เกี่ยวข้อง คือ ร่วมลงนามเปิดสนามวิจัยคชศาสตร์ และโครงการสัญลักษณ์ช้าง และมิตรภาพไทย กาหลีใต้ บัลกาเรีย เนปาล อินเดีย ฮังการี, และ อิตาลี พร้อมกับรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนจะออกเดินทางไปร่วมงานบุญกฐินพระราชทาน รณรงค์เรื่องสันติภาพ และแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ฯลฯ ที่อำเภอบัวเชด ตามลำดับและยังมีโครงการดำเนินงานอีก 2 กลุ่มเป็นครั้งที่ 27 และ 28 ด้วย