กทท.เร่งผู้รับเหมาสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

การท่าเรือฯ เร่งรัดผู้รับเหมาเดินหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จทั้งหมดตามสัญญา มิ.ย. 69 ล่าสุดถูกจ่ายค่าปรับในส่วนงานถมทะเลแล้ว 600 ล้านบาท หลังงานช้ากว่าแผน ด้านผู้รับเหมาปรับแนวทางการทำงาน มั่นใจส่งมอบงานได้ทันตามกำหนด

 

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานในการแถลงความคืบหน้าและรายงานแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC และผู้ควบคุมงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง

 

 

นายเกรียงไกร ระบุว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% คิดเป็น 53,489.58 ล้านบาท และเอกชน 53% คิดเป็น 60,557.35 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี โดยมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

การลงทุนของโครงการฯ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล 2. งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค 3.งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือและ ระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายเกรียงไกร ระบุว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ตามแผนการทำงาน ต้องทำงานให้ได้ 15.13% แต่ ณ วันที่ 31 ต.ค.66 พบว่า กิจการร่วมค้าฯ สามารถทำงานส่งมอบให้โครงการฯ ได้แล้วที่ 13.26% มีความล่าช้าจากแผนการทำงาน 1.87% โดยผู้รับเหมาได้ส่งมอบพื้นที่งานส่วนที่ 1 คือ งานถมทะเล 1 และพื้นที่ถมทะเล 2 แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างถมทะเล 3 ซึ่งตามแผนจะส่งมอบพื้นที่ภายในวันที่ 7 มิ.ย.67 ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะต้องส่งมอบภายในเดือน มิ.ย. 69

 

 

ส่วนงานจ้างก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 (งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค) ตามงบประมาณ 7,425 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา โดยจะมีการยื่นเสนอราคาในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือนมกราคม 2567 และเมื่อได้ผู้รับจ้างแล้ว ผู้ควบคุมงานก่อสร้างจะต้องกำกับการทำงานให้เป็นไปตามแผนบูรณาการงานก่อสร้างของโครงการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ กทท. ต้องส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท GPC ตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน

นอกจากนี้ งานจ้างก่อสร้างส่วนที่ 3 (งานก่อสร้างระบบรถไฟ) ตามงบประมาณ 799.5 ล้านบาท และส่วนที่ 4 (งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือและระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง) ตามงบประมาณ 2,257.8 ล้านบาท กทท. อยู่ระหว่างดำเนินการ ปรับเอกสารประกวดราคาให้เป็นปัจจุบัน และจะเริ่มประกวดราคาในเดือนเมษายน 2567

ทั้งนี้ หากงานการดำเนินงานของกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ไม่แล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้ระบุไว้ จะต้องมีดำเนินการตามรายละเอียดในการบริหารสัญญา รวมถึงมาตรการที่ผู้รับเหมาได้สิทธิ์ ในเรื่องค่าปรับเป็น 0 แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ในการบริหารสัญญาได้มีการกำหนดการยกเลิกสัญญาไว้อย่างชัดเจน โดยจะสามารถวัดได้คือ ในเดือน มิ.ย. 67 และหากความคืบหน้าการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนงาน จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยที่ทางผู้รับเหมายอมรับเงื่อนไขตามสัญญาและมาตรการของกรมบัญชีกลาง

 

 

 

 

 

 

 

 

นายเกรียงไกร ระบุว่า กรณีที่เอกชนผู้รับจ้างถูกปรับ ค่างานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1), พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) ในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะกระทบต่อแผนดำเนินงานในปัจจุบันหรือไม่นั้น ตามระเบียบของกรมบัญชีกลางให้สิทธิการจ่ายค่าปรับเป็น 0% นับจากวันที่เลยกำหนดของสัญญา ในเดือนพฤษภาคม 2568 ระยะเวลา 422 วัน โดย กทท.ได้กำหนดบทลงโทษชำระค่าปรับแก่ผู้รับจ้างหากส่งมอบพื้นที่ถมทะเลล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ดังนี้ งานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1) จ่ายค่าปรับ จำนวน 150,000 บาทต่อวัน ,พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) จ่ายค่าปรับ จำนวน 500,000 บาทต่อวัน และพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) จ่ายค่าปรับ จำนวน 2,500,000 บาทต่อวัน

ส่วนแนวทางการบอกเลิกสัญญาของโครงการฯ มีเงื่อนไขดังนี้ 1.มีผลงานไม่ถึง 25%ของวงเงินตามสัญญา 2.มีผลงานรายเดือนไม่ถึง 50% ของแผนใหม่ และมีผลงานสะสมไม่ถึง 50% ของวงเงินตามสัญญา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.67 เป็นต้นไป 3. มีผลงานสะสมไม่ถึง 65% ของวงเงินตามสัญญาของวงเงินตามสัญญา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.68 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขบอกเลิกสัญญากำหนดให้ผู้รับเหมาต้องดำเนินการก่อสร้างถมทะเลคืบหน้า 37.5% เพิ่ม 23.5% จากเดิมในปัจจุบัน ผู้รับเหมาได้ดำเนินการถมทะเลทั้ง 3 ส่วน คืบหน้า 13.26% ล่าช้า 1.87%

 

นายเกรียงไกร ระบุว่า จากคำยืนยันของผู้รับเหมา เชื่อว่าจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเป็นไปตามแผนงาน เนื่องจากผู้รับเหมามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทราบว่าหากไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้รับเหมาจะถูกยกเลิกสัญญา รวมถึงจะต้องถูกปรับและถูกลงโทษ ดังนั้น ผู้รับเหมาจึงได้มีการเร่งนำเครื่องจักร แรงงาน บุคคลากรกว่า 2 เท่าตัว และทางด้านเทคนิคต่างๆ เพื่อเร่งรัดการทำงาน จึงทำให้ผู้รับเหมาเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ

 

 

ด้านนางสาวลัลลิฬา จิตร์สม ผู้อำนวยการโครงการร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลกิจการร่วมค้า CNNC กล่าวว่า ในส่วนของสัญญาการชำระค่าปรับงานก่อสร้างงานถมทะเลทั้ง 3 ส่วน เบื้องต้นผู้รับเหมาได้ขอใช้สิทธิ์ตามมาตรการของรัฐในช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยยื่นหนังสือถึงผู้ว่าจ้าง เพื่อพิจารณา และปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. พิจารณาเห็นชอบ และเตรียมทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางในการพิจารณาการจ่ายค่าปรับเป็น 0% เนื่องจากได้รับผลกระทบในสัญญา ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้รับเหมาถูกจ่ายค่าปรับในส่วนงานถมทะเลทั้ง 3 ส่วน จำนวน 600 ล้านบาท และหากการยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้รับการอนุมัติให้ยกเว้นการจ่ายค่าปรับจะทำให้ผู้รับเหมาถูกจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้นตามที่กำหนด ทั้งนี้ บริษัทยืนยันไม่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินแต่อย่างใด ขณะนี้ผู้รับเหมามีบริษัทพาร์ทเนอร์ที่ระดมเงินทุนสามารถนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องได้

 

อย่างไรก็ตาม กิจการร่วมค้าฯ ได้มีแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา ทั้งการเพิ่มจำนวนเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพิ่มกำลังแรงงาน บุคลากร กว่าเท่าตัว รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานเพื่อให้การดำเนินงานและการส่งมอบงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบงานได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ นายเกรียงไกร ระบุถึงผลการดำเนินงานในรอบ 12 เดือน (ตุลาคม 2565 ถึงกันยายน 2566) โดยผลการดำเนินงานด้านการเงินมีรายได้สุทธิ 16,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.14% กำไร 6,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงสุดในประวัติการณ์ 72 ปี รวมทั้งมีการขนส่งรถยนต์ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง รวม 1.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 25%

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สส.สัตหีบ เร่งประสานอีสวอเตอร์ แก้ไขปัญหาท่อน้ำประปาแตกบ่อย น้ำไหลเบา เพิ่มแรงดันน้ำพื้นที่โซนสูง
"ศุภมาส" เดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power จัดแข่งวาดภาพ Thai Youth Street Art รุดให้กำลังใจ 6 สถาบัน เข้าประชันฝีมือ
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จัดกิจกรรมคลายร้อนให้สัตว์ ด้วยหวานเย็นผลไม้ พร้อมเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมธรรมชาติ
"สมศักดิ์" ให้กำลังใจทีมแพทย์- พยาบาล รพ.บึงกาฬ พร้อมเปิดห้องรับฟังความเห็น หลังเกิดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน
กรรมการ บ.ไมนฮาร์ทฯ ผู้รับออกแบบตึกสตง. ให้ข้อมูลดีเอสไอ รับมีการสั่งแก้แปลนอาคาร ผนังปล่องลิฟท์ พร้อมร่วมมือให้ทุกอย่าง
PEA เตือนภัย! ประชาชนพื้นที่เสี่ยงระวังภัย "พายุฤดูร้อน"
อยู่ไม่ได้แล้ว! ฟ้าพิโรธผ่าบ้าน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ไฟลุกท่วมวอดทั้งหลัง
ผู้ว่าธปท. รับมอบทองคำ 10 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 34 ล้านบาท จากคณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตามหาบัว
“อนุทิน” ซาบซึ้งในพระบารมี “ในหลวง-พระราชินี” ทรงขับเครื่องบินเสด็จฯภูฏานด้วยพระองค์เอง ฟ้าเปิดทางแม้อากาศปิด
ไฟไหม้ร้านอาหารดับ 22 รายที่จีน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น