ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมว่า นายกรัฐมนตรีนำให้ประเทศไทยติดอันดับโลกในหลายเรื่อง ทั้งการที่นิคเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 102 ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ช้าที่สุดในโลก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตในสภาพเดิมก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้ในปี 2570 แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ตนคิดว่าน่าจะนานกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีการจัดอันดับโดย Gallup World Poll ที่สำรวจพบว่าแรงงานในไทยถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานมากที่สุดในโลก โดย 76 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนไทยที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ระบุว่าถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงาน ซึ่งทำให้มีรายได้ลดลง ดังนั้นไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีค่าตอบแทนลดลงสูงที่สุดในโลก
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า แม้ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากไตรมาสที่ 1 มีคนว่างงาน 730,000 คน แต่อัตราการว่างงานในไทย ถ้าทำงานแค่ 1 ชั่วโมง ก็ถือว่าทำงานแล้ว ขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนมากซึ่งถูกลดโอที ลดจำนวนเวลาทำงาน ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในภาคบริการและร้านอาหารในช่วงนี้ที่ยังเปิดตามปกติไม่ได้ หรือร้านสะดวกซื้อที่ติดปัญหาช่วงเวลาเคอร์ฟิว รวมถึงยังมีคนที่ถูกพักงานหรือต้องกักตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งยังมีคนที่ได้ทำงานครึ่งวันหรือไม่ถึง 4 ชั่งโมงต่อวัน คาดว่าคนเหล่านี้จะมีประมาณ 3.4 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าก่อนเกิดปัญหาโควิด-19 ประมาณ 1 ล้านคน รวมถึงมีคนตกงานจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก แล้วย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาประมาณ 1.6 ล้านคน ขณะที่สินค้าเกษตรหลายชนิดมีราคาตกลง แต่ปุ๋ยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โรคโควิด-19 อยู่กับเรามานาน 18 เดือนแล้ว มีคนที่ตกงานตั้งแต่สถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกแรก มาจนถึงตอนนี้ ประมาณ 1.7 ล้านคน ส่วนผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและยังหางานทำไม่ได้ มีประมาณ 290,000 คน สิ่งเหล่านี้แสดงถึงปัญหาการจ้างงานและสถานการณ์รายได้ของประชาชน ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและการแก้ปัญหาแบบนี้จึงทำให้ประชาชนแทบทุกคนมีรายได้ลดลง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ปี 2563 รายได้ครัวเรือนหายไปโดยเฉลี่ยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมของทุกคนแล้วเป็นเงินเกือบ 1 ล้านล้านบาท และในปีนี้ เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ รายได้ของประชาชนโดยรวยคงจะหายไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท และอาจทำให้ในปี 2565 หายไปอีก 800,000 ล้านบาท ดังนั้น รวมปี 2563-2565 รายได้ของประชาชนอาจหายไปเกือบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งธปท.เรียกว่าหลุมรายได้ แต่ตนขอเรียกว่าเหวรายได้มากกว่า เพราะหลุมมันกว้างและลึก ยากที่จะกระเสือกกระสนขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล
น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายต่อว่า เงินที่รัฐบาลกู้ไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาทนั้น และออกผลของการกู้เป็นแบบนี้ ก็คงต้องบอกว่าไม่พอที่จะทำให้เหวรายได้ของประชาชนตื้นขึ้น เพราะถูกใช้ไปอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง นักบินต้องหันไปขับแกร็บ แอร์โฮสเตสต้องหันไปขายเสื้อผ้าออนไลน์ หลายกิจการก็ต้องแพ้ นำเงินเก็บก้อนสุดท้ายควักออกมาใช้หมดแล้ว จึงได้แต่แพ้ แต่สิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้อย่างเดียวคือ หนี้ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ กลับมีกำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า แถมบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังจ่ายปันผลได้เฉลี่ยละ 2.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทเหล่านี้ไม่ได้จ้างงานเพิ่มขึ้น และยังลงทุนลดลงด้วย สรุปแล้ววิกฤตครั้งนี้คือวิกฤตของคนจนชัดๆ เพราะแบบนี้ใช่หรือไม่จึงยังมีคนได้ประโยชน์อยู่ นายกฯ จึงเพิกเฉยต่อปัญหารายได้ของประชาชนรากหญ้า คนรวยและนายทุนขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ สูงเป็นประวัติการณ์ ตอนปี 2562 หรือก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาต้นปี 2564 เฉพาะไตรมาส 1 ขนออกไปลงทุนแล้ว 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ นายหัวคู่บุญของพล.อ.ประยุทธ์ ยังขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศ กว่า10 ประเทศ เพราะคนรวยเห็นแล้วว่า ประเทศนี้ไร้อนาคต เหลือเพียงคนจนกับชนชั้นกลางที่ต้องถูกล็อกตัวเองและเผชิญชะตากรรมภายใต้การปกครองของนายกฯ ที่ชื่อพล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา
“นี่คือความเหลื่อมล้ำที่อัปลักษณ์ที่สุดที่เกิดขึ้นระหว่าง คนจนกับคนรวย คนจนมีปัญหามาก หากต้องการจะตรวจเชื้อ โควิด-19 ก็หาชุดตรวจยาก บางคนติดโควิค-19 ก็ไม่มีเตียง หลายคนต้องเสียชีวิตไปก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งคาดว่าคนที่ตายไปจะต้องเป็นคนที่มีรายได้น้อยเป็นแน่ ความอัปลักษณ์นี้เห็นตำตาอยู่ทุกวันว่า สถานการณ์แบบนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้แน่นอน ถ้าเราไม่ได้มีผู้นำที่ห่วงอำนาจอย่างทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คุมโควิด-19 อย่างอำมหิตมาก เพราะมีเรื่องการบริหารวัคซีนที่ทั้งผิดพลาด ช้าไป น้อยไป และไม่หลากหลาย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ กอดตัวเลขความสำเร็จทางสาธารณสุข โดยกดตัวเลขติดเชื้อให้เท่ากับศูนย์ แลกกับความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ คราวนี้ระบาดหนัก แต่เยียวยาน้อยกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมาเยียวยาคนในระบบประกันตน ตามมาตรา 33 เมื่อสายเกินไป เพราะคนงานได้ถูกปลดไปหมดแล้ว ส่วนเงินกู้ก็เอาไปทำโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ หรือคนละครึ่ง และยังถูกละเลงลงจังหวัดอย่างไร้ยุทธศาสตร์
“ทั้งนี้ รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ที่จะออกมาในทุกเดือนมีนาคมของทุกปี แต่ปี 2564 ไม่ออก เมื่อสอบถามไปถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ทราบว่า กลายเป็นเอกสารลับ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลที่เป็นความลับ ดิฉันจึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมาจากสภาพคล่องทางการเงินครั้งที่ไม่มีความแน่นอนจากการจัดเก็บรายได้ หรือจะเป็นเรื่องเงินคงคลังลดต่ำสุดในรอบ 10 ปีใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายว่า หลายฝ่ายเสนอแนะแนวทางให้กู้เงินเพิ่ม แต่ดูเหมือนว่าพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่กล้ากู้เงินมาเพิ่มให้ทันกาล ทุกวันนี้ยังไม่กล้าแก้กรอบเพดานหนี้สาธารณะให้เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลัวโดนโจมตีทางการเมือง กลัวเสียคะแนนนิยม กลัวโดนเพื่อนล้อว่าเก่งแต่กู้ หรือเป็นนักกู้สู้ 10 ทิศ วิกฤตครั้งนี้หนักหนากว่าทุกครั้ง ประชาชนก็จะลืมตาอ้าปากอีกครั้งไม่ได้ ถ้าเราไม่มีมาตรการความช่วยเหลือหรือการอัดฉีดกระตุ้นมากพอ แต่พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ยอมทำสิ่งเหล่านี้ เพราะเสี่ยงในทางการเมือง นายกฯ ต้องหยุดขโมยอนาคตของประเทศ ตนจึงขอยกตัวอย่างเสนอแนะต่อนายกฯ อาทิ รัฐมนตรีของประเทศมองโกเลียลาออก เพราะถูกประชาชนประท้วงจากการที่ไม่สามารถจัดการโรค โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีของประเทศสโลวาเกียลาออก เพราะแอบไปทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจากประเทศรัสเซีย ทั้งที่สหภาพยุโรปไม่ให้การรับรอง รัฐมนตรีของอิตาลีลาออกหลังถูกวิจารณ์ว่ารับมือกับโรคโควิด-19 ไม่ได้ จนพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ขณะที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออก เพราะจัดการปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว และนายกรัฐมนตรีสวีเดนพ้นจากตำแหน่ง เพราะพ่ายแพ้ในการลงมติในการอภิปราย ไม่ไว้วางใจ