ความคืบหน้ากรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมประชุมที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน โดยช่วงหนึ่งระหว่างกล่าวถึงการกำจัดหนี้นอกและในระบบซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 28 พ.ย. ระหว่างนายอำเภอ ผู้กำกับการ และผู้การจังหวัด โดยนายกฯระบุว่า “ผู้กำกับใหม่ ผมมั่นใจว่ามีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวัง ในห้องนี้ที่ขอตำแหน่งไป เพราะเยอะเหลือเกิน แต่คงมีไม่น้อยที่สมหวัง เพราะเป็น ผกก.ใหม่ ที่เราต้องพูดคุยเรื่องนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ กำจัดปัญหาออกไป ดังนั้น นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่เราถือเป็นเรื่องสำคัญ”
ภายหลังการพลั้งปากอย่างตั้งใจของนายกฯในเวทีเพื่อไทยก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการตั้งคำถามเพื่อถามหาความรับผิดชอบจากนายเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลบริหารประเทศยังยอมรับว่าที่ผ่านมาคนในพรรคเพื่อไทยมีการฝากตั๋วตำรวจในระดับผู้กำกับกันอย่างไม่มีความละอาย
การออกมายอมรับของนายเศรษฐาที่พูดว่ามี ส.ส.มาขอตำแหน่งผู้กำกับใหม่ในมุมมองของนักกฎหมายเห็นตรงกันว่าอาจเข้าข่ายการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 185 รัฐธรรมนูญปี 60 อย่างชัดเจน เนื่องจากมาตรา 185 ห้ามไม่ให้ ส.ส. หรือ ส.ว.เข้าไปแทรกแซง ก้าวก่าย การแต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม
คำถามต่อมาคือหากนายเศรษฐา กระทำผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 185 จะมีผลทางกฎหมายอะไรตามมาอีกต่อจากนี้ต่อไป
ทั้งนี้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวต่อการกระทำของนายเศรษฐา โดยรัฐธรรมนูญมาตร 234 (1) กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่เข้าไปไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง