องค์กร Save the Elephants เผยแพร่คลิปที่แสดงให้เห็นลูกช้างสองตัวกำลังดูดนมแม่ ก่อนเดินตามแม่ต้อย ๆ อย่างน่าเอ็นดู ที่อุทยานแห่งชาติ ซัม-บู-รู (Samburu) ทางตอนเหนือของเคนยา ลูกช้างคู่นี้เป็นลูกแฝด เพศเมียทั้งคู่ เกิดจากแม่ช้างชื่อว่า “อัลโต” นักวิจัยเพิ่งจับภาพได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะมีอายุไม่กี่วัน
ช้างแอฟริกาใช้เวลาอุ้มท้องเกือบ 22 เดือน หรือราว 95 สัปดาห์ ยาวนานที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และให้กำเนิดลูกราว 4 ปีครั้ง การได้ลูกช้างแฝด เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะหาได้ยาก คิดเป็นเพียง 1% ของการให้กำเนิดลูกช้างเท่านั้น แต่ลูกช้างแฝดที่อยู่ในธรรมชาติมักอายุสั้น คู่แฝดที่เกิดในอุทยานเดียวกันนี้เมื่อปี 2549 อยู่รอดเพียงไม่กี่วัน และลูกช้างแฝดอีกคู่หนึ่ง ที่เกิดเมื่อเกือบสองปีก่อน ก็ตายลงเช่นกันจากความแห้งแล้งรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้ นักวิจัยมีความหวังกับลูกของอัลโต เพราะความอุดมสมบูรณ์หลังฤดูฝน ทำให้แม่ของมันน่าจะผลิตน้ำนมให้ลูกสองตัวได้มากเพียงพอ
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ขึ้นบัญชี ช้างสะวันนาแอฟริกา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของช้างแอฟริกา เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ สืบเนื่องจากการล่าผิดกฎหมายและการทำลายแหล่งอาศัย ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อจำนวนช้างแอฟริกาในภาพรวม
สำหรับเคนยา เคยมีประชากรช้าง 1 แสน 7 หมื่นตัวในคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึงต้น 1980 แต่ลดฮวบมาอยู่ที่ 1 หมื่น 6 พันตัวในปี 1989 เพราะความต้องการงาช้างเป็นปัจจัยหลัก แต่ด้วยความพยายามหยุดการล่าผิดกฎหมาย ช่วยยกระดับประชากรช้างในประเทศแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ ขึ้นมาอยู่ที่่ประมาณ 3 หมื่น 6 พันตัวในปัจจุบัน