นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนติดลบที่ -0.44% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดกันหลังจากเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมติดลบไปแล้วที่ -0.31 % และก่อนหน้านี้ที่อัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำมากมาตลอดก่อนหน้านี้ 5 เดือนจนมาติดลบต่ออีก 2 เดือน และยังมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมยังจะติดลบต่อเนื่องอีกเหมือนที่ได้เตือนแล้ว การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ที่ 3.2% และ ยุโรปยังอยู่ที่ 2.9% แสดงว่าไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว ซึ่งหากบอกว่าการบริโภคในประเทศยังไปได้ดี อัตราเงินเฟ้อไทยจะต้องใกล้เคียงกับเงินเฟ้อประเทศอื่นไม่ใช่ติดลบ สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อของโลก ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งออกนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นโดยเร็ว เพราะหลังวิกฤตไวรัสโควิดผ่านมา 3 ปีแล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นกลับสู่ที่เดิมในขณะที่ประเทศอื่นฟื้นไปไกลแล้ว อีกทั้งน่ากังวลว่าภาวะเงินฝืดนี้จะอยู่อีกนาน
ทั้งนี้ เมื่อมองตัวเลขทางเศรษฐกิจจะพบว่าหลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร แม้จะยังไม่นานนัก ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ 10 เดือนติดกันแต่หลังจากรัฐบาลใหม่เข้าบริหารการส่งออกเป็นบวกทันทีโดยการส่งออกเดือนกันยายนขยายตัว 2.1% และเดือนตุลาคมขยายตัวได้ถึง 8% ซึ่งช่วยให้การส่งออกของไทยในปี 66 นี้ ไม่ติดลบมากนัก ต้องให้เครดิดนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์ การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกิน 27 ล้านคน แม้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่เท่ากับในอดีตก่อนวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด แต่ก็ฟื้นตัวในปริมาณที่น่าพอใจ การลงทุนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น บริษัทใหญ่ๆหลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ทางเทคโนโลยี มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยกันมากขึ้นตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงทุนลงแรงเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปชักชวนด้วยตัวเอง