วผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล (Super Poll) ที่ปรึกษาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามและในบทบาทผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เปิดเผยผลการศึกษา เรื่องปรับทัพจับโจรไซเบอร์ โดยนำผลการศึกษาสำรวจประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวน 1,000 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 16 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.0 เคยถูกโจรไซเบอร์หลอกลวงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 34.0 ไม่เคย ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.6 เคยสูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ นักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.4 พนักงานเอกชนจำนวนมากหรือร้อยละ 45.3 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 42.9 ในขณะที่แม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.1 และรับจ้างใช้แรงงานทั่วไปกับเกษตรกรเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 28.0 เคยสูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ที่น่าพิจารณาคือ วันนี้ได้ข้อมูลรู้พิกัดแล้วว่า ประชาชนในภาคกลางส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 กลายเป็นผู้สูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์มากที่สุดมากกว่าประชาชนในทุกภูมิภาค ในขณะที่คนกรุงเทพมีผู้สูญเสียเงินให้โจรไซเบอร์น้อยที่สุดคือเพียงร้อยละ 4.6 อาจเป็นเพราะคนกรุงเทพมหานครใกล้ข้อมูลข่าวสารตื่นตัวสูงต่อภัยทางไซเบอร์ในขณะที่ประชาชนภาคอื่น ๆ ได้แก่ ภาคใต้ร้อยละ 28.6 ภาคเหนือร้อยละ 27.7 ภาคอีสานร้อยละ 22.5 ที่เคยสูญเสียเงินให้กับโจรไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และในบทบาทผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวว่า วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยราชการอื่น ๆ ปรับทัพจับโจรไซเบอร์ ด้วยกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีระหว่างหน่วยงานราชการ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติห่วงใยต่อความทุกข์เดือดร้อน ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้เชื่อมประสานแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนกันอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง