สืบเนื่อง จากกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมASEAN-Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-18 ธ.ค.66 และมีโอกาสพบกับนักลงทุนภาคธุรกิจ และบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นหลายราย อาทิ Honda , Nissan , Mitsubishi , Mazda , Toyota , Panasonic เป็นต้น โดยเสนอให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น พร้อมชวนร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ลงทุนเรื่องรถยนต์ รถอีวี เป็นต้น นั้น
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ว่า จากการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศไทยจะได้อะไรจากการเดินทางในครั้งนี้นั้น จะต้องแยกประเด็นออกเป็น 2 อย่าง คือ หนึ่ง ในส่วนของโครงการลงทุนใหม่ และสอง คือ การลงทุนเดิม
โดยการลงทุนเดิม นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้มีฐานการลงทุนอยู่ในประเทศไทย ทั้งการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับกลุ่มยานยนต์ จะมีการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า(EV) จะเป็นการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างไลน์การผลิตใหม่ หรือการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ที่จะเป็นการสร้างไลน์การผลิตใหม่ คาดว่า การลงทุนทั้ง 2 กลุ่ม จะมีการเพิ่มแรงงานเข้าไปในระบบไม่มากนัก แต่จะเป็นการนำเอาแรงงานกลุ่มเดิมเข้าไปในไลน์การผลิตใหม่